Home Yamaha News Yamaha NEO’s สกูตเตอร์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

Yamaha NEO’s สกูตเตอร์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

0

Yamaha NEO’s สกูตเตอร์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษแล้วที่ยามาฮ่าได้เป็นผู้ผลิตที่ประสบความสำเร็จและได้รับความไว้วางใจ โดยเฉพาะตลาดรถสกูตเตอร์ขนาด 50 ซีซีในยุโรป แต่ในยุคปัจจุบันนี้นอกจากธุรกิจด้านเครื่องยนต์สันดาปภายในแล้ว ยามาฮ่ายังได้ทำการทุ่มเทวิจัยและพัฒนาสกูตเตอร์ไฟฟ้ามาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีเช่นกัน โดยพัฒนาและเปิดตัวมาหลากหลายโมเดลแล้ว โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย

และในปี 2022 นี้ก็มีสกูตเตอร์ไฟฟ้าคันใหม่ล่าสุดคือ Yamaha Neo ที่เทียบเท่ากับสกูตเตอร์พิกัด 50 ซีซี โดยจะผลิตขึ้นขายเป็นจำนวนมากและวางจำหน่ายในยุโรปเป็นหลัก

สำหรับเจ้านีโอที่ไม่ใช่ตัวเอกในหนังนั้น จะมาในดีไซน์ที่เรียบง่ายแบบมินิมอลแต่ก็มีสเน่ห์น่าดึงดูดโดดเด่นไม่เหมือนใคร ตัวรถมีขนาดกะทัดรัดและดีไซน์กลม ๆ มน ๆ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและง่ายที่จะขับขี่ไปไหนมาไหน ด้านหน้าตัวรถมีไฟหน้าคู่แบบ LED ดีไซน์สวยเข้ากันกับตัวรถ ขณะที่ตัวรถจะมียางบุรอบ ๆ ขับเน้นความโดดเด่นพร้อมกันนี้ยังใช้เป็นตัวป้องกันแฟริ่งของรถเวลารถล้มแปะหรือเฉี่ยวชนได้อีกด้วย และยังใช้ปกปิดตัวน็อตยึดต่าง ๆ ทำให้ตัวรถดูเรียบเนียนมากขึ้น

มาถึงหัวใจสำคัญของนี้คือระบบ Yamaha Integrated Power Unit (YIPU) รุ่นที่ 2 ซึ่งก็คือตัวระบบขับเคลื่อน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวมอเตอร์ไฟฟ้าแบบไม่ใช่แปรงถ่านระบายความร้อนที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยจะเป็นแบบไดเร็กไดร์ฟติดตั้งอยู่กับดุมล้อหลัง มีแรงบิดสูงเพื่อให้ขับขี่ได้นุ่มนวล เร่งความเร็วได้ทันใจ แต่ขณะเดียวกันก็เงียบแบบรถไฟฟ้า ซึ่งการใช้ระบบขับเคลื่อนแบบนี้ทำให้ไม่ต้องมีตัวส่งกำลัง ทำให้ไม่สูญเสียกำลังผ่านทางชุดเกียร์หรือสายพาน นอกจากนี้ยังลดเสียงรบกวนที่จะเกิดขึ้นจากกลไกที่น้อยชิ้นกว่า ซึ่งยิ่งน้อยชิ้นก็ยิ่งทำให้ค่าบำรุงดูแลรักษาน้อยตามไปด้วย และยังรวมไปถึงระบบเบรกหลังอีกด้วย

และในสวิงอาร์มเดี่ยว ตัวควบคุมมอเตอร์ MCU ที่คอยควบคุมพละกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าขณะเดียวกันก็มีดีไซน์ที่สะดวกต่อการถอดล้ออกมาเพื่อเปลี่ยนยางด้วยการขันน็อตออกเพียง 5 ตัวเท่านั้น

สำหรับสิ่งสำคัญต่อมาคือแบตเตอรี่ ตัวรถจะใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนน้ำหนักเพียง 8 กก. ติดตั้งอยู่ใต้เบาะบริเวณกลางตัวรถ แรงดัน 50.4 โวลต์ ขนาด 19.2 แอมป์ชั่วโมง ที่ทางยามาฮ่าพัฒนาและผลิตขึ้นเอง เพียงพอสำหรับการใช้งานได้ราว ๆ 37 กม. (จากการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC Class 1 โหมด STD และอุณหภูมิแบตฯ ที่ 25 องศา) แต่ยังสามารถติดตั้งตัวคอนเน็กเตอร์เพื่อใช้งานแบตเตอรี่เสริมลูกที่ 2 ที่ช่วยเพิ่มระยะทางการใช้งานได้ไปจนถึงประมาณ 68 กม. ส่วนการชาร์จนั้นสามารถถอดแบตเตอรี่ไปชาร์จได้ หรือจะชาร์จด้วยที่ชาร์จแบบพกพาที่สามารถเสียบกับปลั๊กไฟบ้านได้เลย โดยใช้เวลาชาร์จราว ๆ 8 ชม. ถึงจะเต็ม

นอกจากนี้ตัวรถจะมีระบบควบคุมตัวรถและระบบควบคุมมอเตอร์ที่ออกแบบมาให้รีดสมรรถนะของมอเตอร์ไฟฟ้าออกมาให้ได้ดีที่สุดพร้อมกับใช้งานแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้นว่าจะจ่ายพลังงานยังไง เช่น หากแบตเตอรี่ใกล้หมดก็จะมีการควบคุมกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแสดงไอคอนรูปเต่าขึ้นเตือนที่หน้าจอ หากว่ามีแบตเตอรี่ลูกที่ 2 ก็จะสลับไปใช้งานลูกที่สองแทน เป็นต้น

ตัวรถขับขี่ได้ง่ายเร่งได้ไวทันใจ เพราะไม่มีระบบคลัตช์หรือระบบเกียร์ ทำให้ง่ายต่อการขับขี่ ขณะเดียวกันคันเร่งก็ออกแบบมาเป็นอย่างดี ให้สามารถควบคุมกะเกณฑ์ได้อย่างแม่นยำ ไม่กรรโชกโฮกฮาก ทั้งยังมีโหมดการขับขี่ให้เลือกใช้งานตามสถานการณ์การขับขี่ 2 โหมด ได้แก่ STD โหมดที่ให้กำลังสูงสุดที่ 2.06 กิโลวัตต์ (2.76 แรงม้า) ที่ความเร็ว 40 กม./ชม. เหมาะกับการขับขี่ทั่วไป และโหมด ECO ที่มุ่งเน้นการประหยัดแบตเตอรี่ เหมาะกับการขับขี่ทางไกล โดยกำลังจะถูกตอนลงมาเหลือที่ 1.58 กิโลวัตต์ (2.11 แรงม้า) ที่ความเร็ว 30 กม./ชม. และจำกัดท็อปสปีดไม่เกิน 35 กม./ชม. ซึ่งโหมดนี้จะวิ่งได้ไกลถึงประมาณ 38.5 กม.

ส่วนของแชสซีและช่วงล่าง ยามาฮ่าได้ดีไซน์แชสซีขึ้นมาใหม่หมดสำหรับโมเดลนี้ โดยใช้เฟรมที่แข็งแรงทนทานเพียงพอที่จะรอบรับน้ำหนักโหลดต่าง ๆ ไปจนถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น กล่องท้าย เป็นต้น ส่วนโช้คหน้าจะเป็นของ KYB ที่กระบอกด้านในเคลือบนิกเกิลเพื่อเพิ่มความทนทานต่อการผุกร่อน ขณะที่โช้คหลังจะเป็นโช้คเดี่ยว ขณะที่ระบบเบรกจะเป็นดิสก์เบรกเดี่ยวด้านหน้า ส่วนด้านหลังยังคงเป็นแค่เพียงดรัมเบรก แต่ก็เพียงพอกับโมเดลนี้อยู่แล้ว ส่วนล้อเป็นล้อขนาด 13 นิ้วสีดำแบบ 10 ก้านน้ำหนักเบาพร้อมรัดด้วยยางพิเศษที่ออกแบบมาให้มีแรงต้านการหมุนของล้อต่ำช่วยให้ประหยัดแบตเตอรี่นั่นเอง

สำหรับเทคโนโลยีและลูกเล่นอื่น ๆ ก็ถือว่าทันสมัยตอบโจทย์การใช้งานของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อรถเข้ากับสมาร์ทโฟนผ่านแอพพลิเคชัน Yamaha MyRide เพื่อรับการแจ้งเตือนสายเรียกเข้าและข้อความจากสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ยังใช้แอพฯ ดูข้อมูลตัวรถ แบตเตอรี่ ความเร็ว อัตราเร่ง หรือเส้นทางต่าง ๆ หรือจะแชร์ข้อมูลให้กับคนอื่น ๆ ที่ใช้แอพฯ เหมือนกันได้อีกด้วย ในส่วนหน้าจอแสดงผลที่ตัวรถจะเป็นหน้าจอ LCD แสดงผลข้อมูลต่าง ๆ ไปจนถึงระดับไฟของแบตเตอรี่ เป็นต้น และยังมีระบบสมาร์ทคีย์หรือกุญแจแบบคีย์เลสช่วยให้ใช้งานรถได้สะดวกสบายไม่ต้องเสียบกุญแจ แค่พกไว้ที่ตัวก็สามารถใช้งานรถได้

และแน่นอนสำหรับสกูตเตอร์เรื่องใต้เบาะถือเป็นจุดเด่น ๆ ของรถประเภทนี้ โดยมีช่องเก็บของใต้เบาะขนาด 27 นิ้วเพียงพอสำหรับหมวกแบบเปิดคางหนึ่งใบ และแบตเตอรี่สำรองอีก 1 ลูก

สุดท้ายจะ Yamaha NEO’s จะวางจำหน่ายด้วยกัน 2 เฉดสีคือ สีขาว Milky White และสีดำ Midnight Black ซึ่งทั้งสองเฉดสีนี้จะแต่งแต้มด้วยสีฟ้า Aqua ที่จะเป็นสีซิกเนเจอร์ของยานยนต์ไฟฟ้าจากยามาฮ่า โดยจะอยู่ตรงบริเวณ ครอบแบตเตอรี่และสีของโลโก้รุ่นรถ ส่วนสนนราคานั้นยังไม่ระบุ และคิดว่าคงจะไม่มีจำหน่ายในไทย แต่ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่ค่ายรถเริ่มมาทำรถไฟฟ้ากันมากขึ้นครับ

อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ Yamaha คลิก

อ่านข่าวอื่นๆ คลิกที่นี่

รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก

Exit mobile version