Home Honda News CBR1000RR-R SP 2024 ปรับขนานใหญ่ ใส่ไข่ในทุกรายละเอียด

CBR1000RR-R SP 2024 ปรับขนานใหญ่ ใส่ไข่ในทุกรายละเอียด

0

CBR1000RR-R SP 2024 ปรับขนานใหญ่ ใส่ไข่ในทุกรายละเอียด

หากไม่ตั้งใจสังเกตให้ดี ๆ เราอาจจะมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเจ้า Honda CBR1000RR-R SP 2024 โมเดลใหม่ล่าสุดพิกัดเรือธงของทางค่ายปีกนกที่เปิดตัวในงาน Eicma 2023 แต่รู้หรือไม่ว่าทางค่ายได้ปรับปรุงมันขนานใหญ่ในหลาย ๆ จุด ให้มันกลายเป็นรถที่ขับขี่ได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิมเสียอีก แต่จะปรับปรุงอะไรบ้างนั้น ต้องไปดูกันในรายละเอียดที่ผมจะเหลาให้ฟังครับ

ดีไซน์

ดีไซน์ตัวรถโดยรวมแล้วยังคงไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ยังให้ความสปอร์ตเรซซิ่งไม่เปลี่ยน แต่จริง ๆ แล้วมีการปรับเปลี่ยนให้มีแอโรไดนามิกที่ดียิ่งขึ้นไปอีก มีการปรับเปลี่ยนแฟริ่งส่วนกลาง ปรับรูปทรงของปีกวิงก์เล็ตและปรับให้ยื่นไปด้านหน้ามากขึ้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวเมื่อขับขี่ที่ความเร็วสูง ยืนแฟริ่งส่วนล่างให้ยื่นไปใกล้ล้อหลังมากขึ้นช่วยให้การยึดเกาะที่ล้อหลังดีขึ้นอีกด้วย ทั้งยังปรับทรงของถังน้ำมันให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยอีก 0.4 ลิตรเป็น 16.5 ลิตร โดยทรงใหม่นี้ช่วยเพิ่มกริพที่เข่า ช่วยให้คอนโทรลรถได้ดีขึ้นอีกด้วย

เครื่องยนต์

ในส่วนของขุมพลังก็มีการปรับเปลี่ยนภายในเช่นกัน โดยเครื่องยนต์ยังเป็นเครื่อง 1000 ซีซี 4 สูบเรียงระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่ให้กำลังแรงม้าที่ 214.56 แรงม้าที่ 14,000 รอบ และแรงบิดสูงสุด 113 นิวตันเมตรที่ 12,000 รอบ ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลขพละกำลังและแรงบิดสูงสุดจะยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในเครื่องยนต์เพื่อให้ขับขี่ได้ดีเยี่ยมยิ่งขึ้น

โดยมีการปรับปรุงระบบคันเร่งไฟฟ้าใหม่ ใส่มอเตอร์ 2 ตัวเข้ามาควบคุมการเปิดปิดลิ้นปีกผีเสื้อ เพื่อให้ควบคุมกำลัง อัตราเร่งและเอ็นจิ้นเบรกได้นุ่มนวลมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนอัตราส่วนการอัดให้มากขึ้น จาก 13.0:1 เป็น 13.6:1 ปรับปรุงการทำงานของวาล์วใหม่ ปรับปรุงหมุดเพลาข้อเหวี่ยงทำให้มีมวลเฉื่อยน้อยลง 450 กรัม ก้านสูบไทเทเนียมฟอร์จ TI-64A ที่ทางค่ายพัฒนาขึ้นเอง มีน้ำหนักเบาลงกว่าของเดิม 50% มีการใช้น็อตโลหะผสมโครเมียมโมลิบดีนัมวานาเดียมที่ทางค่ายพัฒนาขึ้นเองอีกเช่นกัน ช่วยให้เบาลงได้อีกเล็กน้อย ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ใหม่ให้สั้นลง ช่วยให้การเร่งออกจากโค้งทำได้ดีขึ้น

ทั้งยังมีการป้องกันการสึกหรอของเครื่องยนต์ด้วยการเพิ่มระบบควบคุมเข้ามาใหม่ ช่วยปรับให้เรดไลน์เฉพาะตอนสตาร์ทเครื่องใหม่ให้เหลือเพียง 8,000  รอบ และเมื่ออุณหภูมิของน้ำยาคูลแลนท์ถึงจุดที่เหมาะสมเรดไลน์จึงจะเขยิบขึ้นไปเกิน 14,000 รอบตามปกติ รวมไปถึงรายละเอียดยิบย่อยอีกมากเพื่อเพิ่มความทนทานของเครื่องยนต์

ปิดท้ายด้วยการใช้ปลายท่อ Akrapovic ไทเทเนียมน้ำหนักเบาที่ดีไซน์มาใหม่มีขนาดปริมาตรภายในใหญ่ขึ้น 1 ลิตร เสียงเบาลง 5 เดซิเบลเมื่อเทียบกับตัวเก่า แต่เสียงก็จะดังไล่ขึ้นไปตามรอบเครื่องยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น เรียกว่ายังไม่ทิ้งความเร้าใจของสายซิ่งไปนั่นเอง

ช่วงล่าง

มีการปรับเฟรมอลูมิเนียมใหม่โดยปรับให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และเพิ่มความแม่นยำในการบังคับเลี้ยวและการตอบสนองต่อการยึดเกาะ ทั้งยังรีดน้ำหนักให้เบาลงมาได้อีก 960 กรัม จากการปรับเปลี่ยนเฟรม มีการใช้น็อตแขวนเครื่องที่สั้นลงช่วยรีดน้ำหนักได้อีก 140 กรัม แต่ยังคงความแข็งแรงไว้ได้ ตลอดไปจนถึงการปรับในเรื่องมิติตัวรถต่าง ๆ เพื่อให้การควบคุมทำได้ดีและคล่องตัวมากขึ้น

มีการปรับเปลี่ยนท่านั่งใหม่ด้วยการยกแฮนด์ให้สูงขึ้น แต่ทำให้พักเท้าต่ำลงเพื่อมีอิสระในการขยับท่วงท่า ทำให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น

โช้คเองก็ได้รับการอัปเกรด กลายเป็นรถโปรดักชันรุ่นแรกของโลกที่ใช้โช้คหน้า Öhlins 43mm S-EC3.0 (SV) NPX แบบหัวกลับ และโช้คหลัง TTX36 S-EC3.0 ที่เป็นโช้คไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมาเป็นเจเนอเรชันที่ 3 แล้ว เพื่อให้การยึดเกาะและการตอบสนองดีที่สุดพร้อมซิ่ง

ระบบเบรกเองก็อัปเกรดให้เป็นตัวสุดของสายซิ่งในรถโปรดักชัน โดยจะได้คาลิเปอร์เบรกหน้า Brembo Stylema R เรเดียลเมาท์ 4 ลูกสูบจับกับจานขนาด 330 ม.ม. หนา 5ม.ม. ร่วมกับปั๊มบน Brembo  ส่วนด้านหลังเองก็จะใช้คาลิเปอร์เบรก Brembo แบบเดียวกับที่ใช้ใน RC213V-S ตัวแรงตัวแพงที่สุดของทางค่ายนั่นเองครับ

ปิดท้ายด้วยล้อจะเป็นล้ออลูมิเนียมแบบ 5 ก้านขนาด 17 นิ้ว เข้าคู่กันกับยาง 120/70-ZR17 และ 200/55-ZR17

ระบบอิเล็กทรอนิกส์

ในส่วนของระบบอิเล็กทรอนิกส์แน่นอนว่ามีการอัปเกรดเพิ่มตามตัวรถเช่นกัน อาทิเช่น ระบบ HSTC 9 ระดับที่ปรับมาใหม่ให้สอดคล้องกับกำลังและอัตราทดที่เปลี่ยนไป โหมดการขับขี่ 3 โหมดที่ปรับปรุงมาใหม่เช่นกัน และสามารถปรับเปลี่ยนพละกำลัง เอ็นจิ้นเบรก การลอยตัวของล้อได้หลายระดับ แน่นอนว่าพวกนี้อาศัยข้อมูลจาก IMU หรือหน่วยประมวลผลแรงเฉื่อยจาก Bosch แบบ 6 แกน

ยังมีโหมดออกตัวหรือ Start Mode ที่คล้าย ๆ กับ ระบบช่วยออกตัวของค่ายอื่นที่มีภาษาอังกฤษว่า Launch Control ซึ่งของทางฮอนด้าจะปรับล็อกรอบได้ 4 ระดับ คือ 6,000 7,000 8,000 และ 9,000 รอบ ควิกชิฟเตอร์ใหม่ที่ปรับการทำงานได้ 3 ระดับ ระบบโช้คไฟฟ้า Öhlins Smart Electronic Control (S-EC3.0) ระบบกันสะบัดไฟฟ้า 3 ระดับจาก Showa ที่อาศัยข้อมูลจาก IMU เช่นกัน ระบบเบรก C-ABS แบบ 2 แชนแนล 3 โหมด และระบบไฟกระพริบฉุกเฉินเมื่อเบรกกะทันหัน ESS ตลอดไปจนถึงเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบายอย่างหน้าจอสี TFT ขนาด 5 นิ้ว ระบบยกเลิกไฟเลี้ยวอัตโนมัติ และระบบสมาร์ทคีย์

สรุป

เรียกว่าปรับปรุงในหลาย ๆ ส่วนจริง แต่ถ้าไม่สังเกตหรือไม่ได้ลองขับขี่จะไม่รู้ แต่ถือว่าเป็นการอัปเกรดใส่ไข่ ใส่ใจในเรื่องของสมรรถนะการขับขี่ในทุกด้านจริง ๆ ครับ แต่แน่นอนว่าต้องมีราคาที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน งานนี้ราคาจากเดิมโมเดลล่าสุดที่ไทยขายที่ 1,119,000 บาท งานนี้เราอาจจะได้เห็นราคาที่โดดขึ้นไปได้อีก โดยอาจจะไปอยู่ที่ 1.2 ล้านบาทขึ้นไปเป็นแน่ครับ แต่บอกได้คำเดียวว่าคุ้มแน่นอนครับ

อ่านข่าวอื่นๆ คลิกที่นี่อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ Honda คลิก

รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก

Exit mobile version