รีวิว Daytona 660 2024 ตำนานในร่างใหม่ ขี่ง่ายกว่าเดิม
ถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ของรถซูเปอร์สปอร์ต นี่ไม่ใช่รถที่คุณตามหา..ข้ามไปเลย! ลืมภาพเดิม ๆ ของ Daytona 675 R เจ็นเก่าตัวแรง หมอบติดถัง รอบเครื่องสูง รถซูเปอร์สปอร์ต สิงห์สนาม ม้าพยศ ที่คนขี่ต้องใช้ ”สกิล” ในการขับขี่เพื่อจะคุม เจ้าตั๊กแตน 675 ตัวนี้ให้อยู่ใต้หว่างขา
ซึ่งถ้าพูดถึงตัวเก่าที่ออกมาล่าสุด รุ่นปี 2019 (ไม่นับ Daytona 765 Moto2 Limited) ถือว่ารถสปอร์ต จาก Triumph ค่ายผู้ดี(ผีบ้า)อังกฤษ ห่างหายจากวงการมากว่า 5 ปีแล้ว สำหรับปี 2024 จึงเป็นเวลาอันดีที่จะเปิดตัวรถใหม่ โดยโจทย์ที่ฝ่าย Product Marketing และ Product Planning ของไทรอัมพ์ได้วางไว้ร่วมกันคือ สร้างรถสปอร์ตซีซีขนาดกลาง ๆ เพื่อสร้างนักขี่หน้าใหม่เข้าสู่วงการและสัมผัสความเป็น Daytona
และด้วยโจทย์ที่ว่า เลยใช้บล็อกเครื่อง 660 ตัวเดียวกับ Trident แต่ปรับเปลี่ยนใส้ในใหม่ เพื่อเพิ่มความซิ่ง หลัก ๆ ที่ต่างคือ Power band ที่กว้างขึ้น ทอร์ค ที่เรียบและนิ่งตลอดรอบเครื่อง
ส่วนเรื่องของดีไซน์ยังคงมีกลิ่นอายของ Daytona หน้าตั๊กแตนอยู่แบบ เบา ๆ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเหมือน CBR650R แต่ต้องถามกลับว่า CBR มันคล้าย Daytona ซะมากกว่า 555 แถมไทรอัมพ์ยังคงเก็บเอกลักษณ์ของ Daytona คือ ไฟหน้า 2 ดวง แทรกกลางระหว่าคิ้วด้วยแรมแอร์สามเหลี่ยม โดยทีมที่ออกแบบรถตัวใหม่ คือ ทีมเดิมที่ออกแบบเจ็นแรกๆ ใครบอกว่าคล้าย ผมบอก ไม่ใช่โว้ย
พูดถึง Spec
เครื่องยนต์
เป็นการอัปเกรดจาก Trident 660 โดยปรับเปลี่ยนแคมชาร์ฟใหม่ ช่วงเกียร์ยาวขึ้น ลูกสูบและและสลักโค้ตติ้งเพิ่มความลื่น เพิ่มขนาดลูกสูบใหม่เบิ้มกว่า เจ้า Trident และเพิ่มขนาดหม้อน้ำให้เบิ้มตาม ส่งกำลังแรงม้าสูงสุด 95 แรงม้าที่ 12,650 รอบต่อนาทีสูงกว่า trident 17% และทอร์คสูงสุด 69 นิวตันเมตรที่ 8,250 รอบต่อนาที มากกว่า trident 9%
เท่านั้นยังไม่พอ เพิ่มรสชาติความจี๊ดจ๊าดของคันเร่ง ด้วยปีกผีเสื้อ(ลิ้นเร่ง) แบบ 1:1 หรือ 1 สูบ ลิ้น 1 ตัว แถมแอร์บ็อกซ์ที่ใหญ่ขึ้นกว่า Trident โดยใช้ระบบแรมแอร์แบบเดียวกับเจ็นก่อนหน้า ที่ดูดลมผ่านรูระหว่างคิ้ว (ไฟหน้า) สองดวง
Daytona 660 ยังขิงด้วยผลทดสอบ อัตราเร่ง 0-60 mph(เกือบๆ 100kmh) อยู่ที่ 3.6 วินาที
โช้คหน้า-หลัง
โช้ค USD SHOWA SFF-BP ขนาด 41 มม. | โช้คเดี่ยว SHOWAA RSU ปรับพรีโหลดได้ |
โช้คหน้า Showa SFF-BP แบบ Upside down, 41 มม. และโช้คเดี่ยวด้านหลัง Showa RSU ที่ปรับพรีโหลดได้ ซึ่งไม่ได้มีอะไรโดดเด่น หน้าตาทื่อๆ เหมือนโช้คติดรถทั่วไป
ดิสก์เบรกเดี่ยวขนาด 220 ม.ม. คาลิเปอร์เบรกแบบลูกสูบเดียว | ดิสก์เบรกคู่ขนาด 310 ม.ม. คาลิเปอร์เบรกแบบ 4 ลูกสูบ |
เบรก คาลิเปอร์หน้าขนาด 100 มม. 4 ลูกสูบ แปะป้าย Triumph (แอบส่องแล้วเป็นของ J.Juan) ด้านหลังเป็นคาลิเปอร์ลูกสูบเดียว
ส่วนยาง เป็นสปอร์ตตัวใหม่ล่าสุดจากค่ายหุ่นตุ้ยนุ้ย ด้านหน้า 120/70ZR17 และด้านหลัง 180/55ZR17
อุปกรณ์-ระบบอื่นๆ
+ เบาะ 2 ตอน แยกคนซ้อน คนขี่
+ เบาะคนขี่สูง 810 มม. มีเบาะสำหรับคนขาสั้นแยกขาย (795มม.)
+ คันเร่งไฟฟ้า 100% โคตรเฟี้ยว
+ แฮนด์จับโช้ค งานชิ้นเดียวกับแผงคอบน
+ พักเท้าที่ไม่เตี้ย ไม่สูงเกินไป
+ โหมด Road, Sport, Rain ปรับแต่งได้นิดหน่อย
+ Traction Control เลือกเปิด/ปิดได้
ON ROAD TEST
รีวิว Daytona 660 2024 (รวมระยะทาง 170 กม.)
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ Triumph Thailand ที่เลือกทีม Superbike Thailand เป็น 1 ใน 2 คนไทย (อีกคนคือ DBigbike) ที่ได้ร่วมทดสอบการขับขี่ 170 กม. บนถนน Spain แบบ Exclusive เป็นประสบการณ์มัน ๆ จนได้รับใบประกาศจาก มูลค่า 200 ยูโร จากพี่ตั้มชุดเขียวที่ดักรออยู่ทางลงเขา และยังใจดี เจอ-จ่าย-จบ ลดให้ 50% เหลือ 100ยูโรถ้วน….เอ้า!! เข้าเรื่องทดสอบ
ด้วยความที่ผมเป็นติ่ง Daytona ตั้งแต่สมัยม.ปลาย พอเห็นตัว เลข 660 เลยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะดูทรงก็รู้อยู่แล้วว่า มันไม่ใช่ Daytona แบบที่เคยมีมา (ใจจริงก็แอบผิดหวังนิดหน่อย) เหมือนที่จั่วหัวไว้ข้างต้น Daytona 660 คันนี้ไม่ใช่ Supersport แต่เป็น Sport Touring สำหรับมือใหม่
และถ้ามองว่ามันเป็น 1 ในตัวเลือกของรถคลาสกลาง ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน มวยถูกคู่ กับ YZF-R7, CBR650R, Ninja 650 เป็นรถของคนขี่ถนน-ขี่ไปทำงาน – ออกทริป – ไปทางดีมีเซเว่น ไม่ใช่อาวุธ Trackday ซึ่งรถแบบนี้แหละ คือตัวต่อยอดสู่รุ่นอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า
โจทย์นี้ผมมองว่าไทรอัมพ์มองขาด เพราะราคาที่เปิดตัว 327,300 บาท เป็นราคาที่สู้ได้ และสู้ไหวแน่นอน เหมาะกับคนเริ่มต้น…กับเครื่องยนต์แบบ 3 สูบเรียง หนึ่งเดียวในคลาสมิดเดิ้ลเวท อัตราเร่ง ต้น กลาง ปลาย มานิ่ง ๆ ไม่ต้องรอรอบ ต่างจากเครื่อง 2 สูบ ที่ต้นไหล ปลายแผ่ว กับ 4 สูบเสียงหวาน ที่ต้นแผ่ว ปลายไหล
ปลดสมรรถนะ..บนเขาอันคดเคี้ยว Alicante Spain
ช่วง 60 กม. แรก : ออกจากโรงแรม ก็เข้าถนนหลัก ขับเลนขวาแบบง่วง ๆ เนื่องจากอาการเจ็ตแล็ก ทำความเร็วอะไรมากไม่ได้ อย่างดีก็แค่ขึ้นเกียร์ 3 ได้ 1-2 วิ แล้วลงมาลากเกียร์ 2 ยาว ๆ ซึ่งจำกัดความเร็วในเมืองไม่เกิน 60 กม./ชม. ผ่านเส้นทางที่มีหลุมเล็กน้อย แต่หลังเต่าเยอะ สิ่งที่น่าประทับใจของ Daytona สำหรับการขี่ในเมืองคือ โช้ค Showa หน้าตาทื่อ ๆ ที่ติดมากับรถนะแหละ ซับทุกหลุม ดูดทุกเนิน นุ่มนิ่ม สบายตูด ทำเอาแปลกใจ ว่าเฮ้ย! แม่งดีหว่ะ แต่ก็แอบหวั่นใจว่า ถ้าโช้คนุ่มนิ่มขนาดนี้ คนตัวหนัก หรือ เวลาที่อัดทางโค้งแรง ๆ จะมีอากการรึเปล่า…ระหว่างทาง อากาศยังเย็น ๆ ประมาณ 15 องศา แทบจะตลอดทาง และเส้นขาวพาเสียวที่เหยียบแล้ว แว้ด เหยียบแล้วแว้ดดดด
หลังจากออกจากตัวเมือง เริ่มทำความเร็วสูงขึ้น อาการเริ่มออก คือ ยางแว้ดบนเส้นขาว ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสีที่สเปนเลือกใช้ทา อากาศ หรือ ยาง หรืออาจจะเป็นทุกอย่างรวมกัน ระหว่างขี่มาก็เจออาการนี้มาตลอด จนถึงที่จุดพักจุดแรก แวะร้านกาแฟที่ไม่ได้กินกาแฟ เพราะมัวแต่ต่อสู้กับ Go-Pro ที่เปิดไม่ติดเพราะแบตมันเย็น…พอถ่ายติดอีกกลุ่มก็มา เลยได้แค่แวะเข้าห้องน้ำ แล้วขี่ต่อ
ระยะกม. ที่ 60-120 : จากร้านกาแฟได้ไม่ถึง 10 นาที เพซการขับขี่ก็เปลี่ยนจากที่ขี่กัน 60-80 ตอนนี้เป็น 100++ เท่าที่จำความได้ความเร็วท็อปสปีดมี 170 แน่ ๆ ถนนที่ขี่ แทบไม่มีทางตรง ถ้าจะตรงต้องตัดเลน ซึ่งผมก็ตัดแม่งทุกอันตามคันหน้า และสิ่งที่ได้ก็มาคือ..ถูกปรับ 100 ยูโร แล้วขบวนก็ทิ้งผมกับพี่เบนซ์ DBigbike ไว้ท่ามกลางทางกับตำรวจ 2 นาย ที่ยืนคุมว่า ไม่จ่าย ไม่ต้องขี่ รออยู่ประมาน 15 นาที มาร์แชลของไทรอัมพ์ก็ขี่ Trident 660 ย้อนกลับมาเอาบัตรจิ้มให้ จบปิ้ง เพราะตัวผม ไม่ได้พกอะไร มานอกจากเศษตัง กับพาสสปอร์ตและ ใบขับขี่..
และหลังจากนั้น ก็ขี่ตามมาร์แชล ไล่กลุ่มตามหน้ากันยาวๆ เลยลองเปลี่ยนจากโหมด Road > Sport ซึ่งความแตกต่างที่สัมผัสได้ คืออัตราเร่ง ที่มาจากการเปิดของปีกผีเสื้อที่เร็วขึ้น และ Traction ที่ตัดช้าลง เจอ…นี่แหละ ถึงได้เจออาการ ย้วย ของช่วงล่าง และยางแถๆที่น่าแปลกคือมันเป็นอาการแถ ที่ตัวรถคุมได้ ด้วยระบบของตัวรถ…ถ้าให้อธิบาย จะเป็นประมาณว่า ท้ายไหล แต่ไม่ลื่น เครื่องไม่ตัด มันไหลแบบคุมได้ แต่ถ้าเอาลงแทร็กคงเอาไม่อยู่ แต่ก็อย่างว่า Daytona 660 ถูกออกแบบมาให้ขี่มันส์ “บนถนน” ก็เข้าใจได้ ไม่ถือเป็นข้อเสีย เพราะถ้าเป็นมือใหม่ คงไม่มีใครบ้า เปิดหมด ปิดหมด หรือเค้นให้เกิดอาการ
และอีกหนึ่งอาการ ที่เจอระหว่างขับขี่ตั้งแต่ 0 โล จนถึงตอนนี้ (ในบทความ) คือเสียงเบรก! จิ้บ ๆ จี้ด ๆ ตอนช่วงเริ่มเบรก แต่ถ้ามอง (ฟัง) ข้าม เรื่องเสียง คือเป็นเบรกที่ดีเกินคาด…ไม่ได้โม้ เอาจริง คือไม่คิดว่าต้องแต่งเบรกเพิ่มแล้ว เดิม ๆ จบ
ระยะกม. ที่ 120-170 : ช่วงท้ายของการขับขี่เป็นทางขึ้น-ลงเขา ตลอดทาง จนน้ำมันกระพริบ ขี่แบบไล่เกียร์ถี่ ๆ ไม่อมคันเร่ง แต่จะขี่ท่าไหนก็ใช้ไม่เคยถึงเกียร์ 5 มีแค่ 2-4 ยันจบทริป อาจะเป็นเพราะ สเตอร์หลังอันเท่าเขียง กับเครื่องที่ทอร์คจัด ๆ บิดแปบเดียวหมดเกียร์กับทางโค้งต่อเนี่อง ไม่มีพัก มีเข้าเกียร์ผิด ๆ ไปบ้าง และมีทั้งตั้งใจใช้เกียร์สูงรอบต่ำ บอกเลยว่า รถไม่อืด ถึงเป็นทางชันรอบเครื่องลงมาต่ำ ก็ยัดคันเร่งเอา ม้าตามมาเอง เพิ่มความมั่นใจได้ดี เพราะถึงจะเข้าเกียร์สูงไปในบางโค้ง ก็ไม่เป็นไร เพราะรถ “มีแรงส่ง”
Key Feature
การควบคุม Ergonomic
ตัวฉันสั้น ขาฉันยาว ไม่ได้มาตรฐาน คงพูดมากไม่ได้ แอบเสียดายเล็ก ๆ เพราะได้แฮนด์จับโช้คมาแล้ว แต่ดันเป็นชิ้นเดียวกับแผงคอ ด้วยความที่ผมแขนสั้นและไหล่แคบ แฮนด์มันกว้างและไกลตัวไปหน่อย ขี่ ระยะทาง 100 กม.ขึ้นไป ทำให้รู้สึกมีอาการเมื่อยไหล่ เมื่อยหลังช่วงบนนิด ๆ แต่ก็อย่างว่า คนอื่นที่ไปขี่ทดสอบ ไม่มีปัญหา มีแต่ผมเนี้ยยยย.. โจทย์นี้แก้ยาก เพราะแฮนด์ดันติดกับแผงคอ
ถ้าหากจะเปลี่ยน คงต้องพึ่ง CNC ซึ่งแพง สู้ลงทุนยกเวทเพิ่มกล้ามเนื้อหลังอันอ่อนแอให้แกร่งขึ้นง่ายกว่า สำหรับช่วงขาพอดีเวอร์ วางเท้าสบาย เข้าเกียร์ เบรกได้แบบ ง่ายๆ ไม่ต้องแกว่งเท้าหาเกียร์
เครื่องยนต์
3 สูบเรียง ทอร์คมาเนียน ๆ แรงต้นเหลือ ๆ กลาง-ปลาย ไม่ตื้อ แต่ก็ไม่ได้พุ่ง เป็นรถเครื่องสมูท ไม่ดีด หรือต้องลากรอบยาว ๆ เหมือน 675 ขี่ง่าย เป็นมิตร เอาเป็นว่าตัวเครื่อง ทำมาเหมาะกับทางสั้น ๆ โค้งลึก ๆ โยนรถ ไป ๆ มา ๆ อยากให้นึกภาพตามก็ประมาณสนามโกคาร์ท ได้ใช้เกียร์มันส์ๆ ถ้าเป็นสนามช้างฯ ผมว่าลากรอบตัดก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะถึงรอบจะมี 13000+ แต่มันฟาดเร็วมากกก
เวลาขี่เสียงดูดลมดังกว่าท่อ เสียงดูด วี้ด-วี้ด ท่อมากับลม บรึ้น ๆ เบา ๆ อ้อ…อีกอย่าง เกียร์รุ่นนี้นุ่มมาก แตะนิดเดียวเข้าเลย ไม่มีเกียร์ว่าว (ปกติว่าวบ่อย)
แถมทางไทร์อัมพ์ยังยืนยันการันตีไว้ว่า โฉมเจ็นใหม่ เครื่องทน! รันอิน 1000 กม. เสร็จ ใช้ยาวๆ อีก 16,000 กม. ค่อยเข้าศูนย์ทีเดียว
ระบบช่วงล่าง (โช้ค-เบรก-ยาง)
ถึงจะเป็น Showa ตัวธรรมดา ปรับแต่งอะไรไม่ได้ ทำได้แค่พรีโหลด ด้านหลัง แต่…เท่าที่ทดสอบ ถือว่า เซ็ตอัปมาดีเกินคาด ไม่ย้วย ไม่แข็งเกินไป ขี่ถนนคือดีเลย อาจจะเป็นเพราะผมน้ำหนักตัวเบา (66 กก.) รึเปล่าไม่แน่ใจ แต่เท่าที่ขี่มาแบบห้าวๆบนถนน ไม่เจออาการอะไรแปลกๆ แต่ถ้าเค้น หรือลงโค้งหมด ผมว่าต้องอัปเกรด
เรื่องเบรก : โคตรประทับใจ คือแบบ…ดี อยู่ แน่น ไม่มีอาการเฟดทั้งที่ขี่ขึ้น-ลงเขา เบรกหนัก ลากเบรกเข้าโค้ง จัดได้หมด ไม่ต้องซื้อเพิ่ม แต่ขัดใจที่เดียว คือเสียง ซึ่งสำหรับผมไม่มีปัญหา เพราะเวลาขี่มองแต่ทาง กับฟังเสียงเครื่อง
ยาง : Michelin Power 6 ใช้ได้แหละ ขนาดอุณหภูมิอากาศประมาณ 10 – 15 องศาก็เปิดคันเร่งได้เรื่อยๆ โปรไฟล์ยัง คม เลี้ยวง่าย เจออาการเดียวคือขี่โดนเส้นขาวแล้ว สลิปทั้งยางหน้าและหลัง แต่ดีที่รถฉลาด แทร็คชันทำงานทันที เลยไม่กลิ้ง
ระบบหน้าจอ+ Rider’s Aid
หน้าจอ LCD + TFT ไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป แสดงข้อมูลเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ไม่รกตา บอกตรง ๆ ก็คือ ไม่เคยมองอยู่แล้ว ปกติขี่รถก็มองแค่ทาง รู้สึกดีด้วยซ้ำ เพราะต้องตั้งใจมอง ถึงจะเห็น ไม่ได้ใหญ่เบิ้มเป็นจอ Ipad เหมือนรุ่นอื่นๆ
Ride mode ไม่มีอะไรมาก Road – Sport – Rain ไม่ซับซ้อน ออปชันแต่ละโหมดไม่ได้มีตัวเลือกเยอะ ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นข้อด้อยหรือข้อดีอะไร สำหรับรถคลาสมิดเดิ้ลเวทเท่านี้ก็เพียงพอ อยากได้เพิ่ม ก็ใช้เงินฟาดเอาทีหลัง
โดยในระยะทางขับขี่ 170 กม. ได้ลองทดสอบ 2 โหมดคือ Road และ Sport ซึ่งจับอาการดูแล้ว ต่าง แต่ไม่มาก ซึ่งเป็นฟีเจอร์ของ คันเร่งไฟฟ้า Ride By Wire ที่จะทำหน้าทีให้การ เปิด ปิดปีกผีเสื้อ ตามโหมดที่เลือก ซึ่งหมายความว่า ต่อให้เราบิด 100% ปีกผีเสื้อจะไม่ได้เปิด 100% ตามแรงบิด มันจะมีหน่วง ๆ นิดหน่อย
*โหมด Road อัตราเร่งจะช้ากว่านิดหน่อย Traction ตัดเร็ว*
*ส่วนโหมด Sport จะเร่งได้แรงกว่า ส่วน Traction จะมาช้า*
โหมด Sport เปิดคันเร่งหนัก ๆ ให้ยางหลังออกอาการปัด ๆ นิด ๆ ได้ และความเฟี้ยวคือเปลี่ยนโหมด ระหว่างขี่อยู่ได้ ไม่ต้องดับกุญแจ หรือจอดสนิท แค่เลือกโหมด แล้ว ปิดคันเร่ง ก็ใช้ได้ทันที
แปลกแต่จริง! ขี่มาทั้งทาง ไม่ได้ใช้ ABS เลย! หรืออาจจะหนาวจนไม่รู้สึก เพราะปกติถ้ากำเบรกหนัก ๆ รถในคลาสเดียวกัน จะเจออาการปั้มเบรกสู้มือ สู้ตีน แต่นี่คือ…ไม่เจอ เออ งงดี
Upgrade
ย้อนกลับไปข้อความแรก ๆ รถคันนี้ ไม่ใช่ Daytona ที่เคยรู้จัก มันเป็นรถที่ถูกถอดเขี้ยวเล็บออกหมด ลดพิษภัยและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ “นักขี่หน้าใหม่” กลายเป็นรถนุ้งนิ้ง ขี่ถนน ในความเป็นจริง มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะอย่าง Honda ถ้าเป็นซูเปอร์สปอร์ตก็จะเป็น CBR600RR ซึ่งราคาและสเปคก็สูงกว่า CBR650R ที่เป็นรถถนน 100% หรือ Kawasaki ที่มี Ninja ZX-6R กับ Ninja 650 ไม่แปลก ที่ Triumph จะเพิ่ม Daytona 660 เข้ามาเป็น 1 ในตัวเลือกให้กับผู้ขับขี่
แต่ถ้าหาก คุณอยากทำให้ Daytona 660 เป็นรถสนาม 100% ก็ทำได้ เพราะ Triumph กำลังเร่งพัฒนาชุดแต่งร่วมกับ Peter Hickman นักแข่งแชมป์รายการ IOM (Isle on man) 3 สมัย โดยชุดนี้มีทำมาขายสำหรับคนที่อยากอัปเกรดและจะเป็นชุดเดียวกับที่จะใช้แข่ง Europion Junior cup ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ และมีค่ายอื่นเข้าร่วมแข่งในรายการอีกด้วย (หวังว่าไทยจะเอาเข้ามานะครับ อิอิ)
สรุป
ข้อดี:
- รอบเครื่องสมูท ต้น-กลาง-ปลาย แรงมานิ่ง ๆ เกียร์ 2 สะกิดคลัตช์นิดเดียวล้อลอย (แต่อย่าบอกทางไทรอัมพ์ว่าผมเอารถเทสไปยกล้อนะ เขาห้าม 555)
- โช้คอัพถึงจะปรับอะไรไม่ได้ แต่เซ็ตมาดี ตัวผมหนัก 66 กก. ไม่มีอาการ ดีด เลื้อย สับแต่อย่างใด (ถ้าไม่เค้น)
- พลังเบรกถือว่าดีเกินคาด….จริงๆ คือดีแบบ ดีเลย
- ทอร์คมานิ่ง ๆ ยาว ๆ เข้าโค้งต่อเนื่องง่าย เข้าผิดเกียร์ ก็เติมคันเร่งได้ รอบไม่เหี่ยว
- เบาะโฟมนุ่มสบายตูด แคบ และยาว คร่อมรถแล้ววางเท้าได้เต็มพื้น ปรับท่างนั่งได้หลายตำแหน่ง ขายาว ไม่ใช่ปัญหา
- ขาสั้น (เตี้ย) มีเบาะเตี้ยขายแยก เบาะเตี้ยลง 2 ซม.
- คันเร่งไฟฟ้า Ride by Wire ติดอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่มได้ในอนาคต
- ราคาดีมาก
- เซอร์วิสครั้งแรก 1000 กม. ครั้งต่อไป 16,000 กม. ใช้จนลืม
ข้อตำหนิ:
- แฮนด์จับโช้ค แต่ปรับองษาไม่ได้ เมื่อยไหล่-หลัง เล็กน้อย
- ตำแหน่งแฮนด์อยู่ไกลไปนิด
- โหมดแต่ละโหมด ปรับอะไรเยอะไม่ได้ เหมือนมีแค่ 2 ตัวเลือก ในแต่ละ Setting
- ยางแพ้เส้นขาว ไม่แน่ใจว่าที่ได้อากาศร้อนจะเป็นมั้ย
- ท้ายใส่ทะเบียนยาวเกิ้น เห็นแล้วคันอยากเอาออก
- เสียงเบรกดังจี้ดๆ อาจสร้างความรำคาญให้กับนักขี่ไทย
คะแนนสำหรับการรีวิวทดสอบ
Ergonomic : 7/10 (แขนสั้น มั้นเอื้อม)
Engine : 9.5/10 (ฟีลดี ท่อไม่เงียบ)
Suspension : 9/10 ผ่าน แต่ขี่โหด ต้องอัพ
Brake : 9.5/10 โคตรดี แต่มีเสียง
Tyre : 8.5/10 ลื่น เมื่อเจอเส้นขาว / เปิดหนักในโค้ง ท้ายไหล
Rider’s Aid : 8/10 (อยากให้ปรับละเอียดในแต่ละโหมดได้อีกนิด)
OVERALL : 8.5/10 นี่คือรถที่ดีสำหรับคนเริ่มต้น ออปชันครบ ขี่ง่าย ไม่ต้องแต่ง (ยกเว้นท่อ) และนี่ไม่ใช่ Trident 660 หรือ Tiger 660 มันคือรถคนละคัน มันส์คนละแบบ
Ride or Upgrade : ขี่หรือแต่งเพิ่ม… ตอน Ride ออกจากศูนย์ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร ใช้ยาว ๆ จนถึงรอบเซอร์วิสค่อยว่ากัน บังโคลนท้ายขัดใจมากท้ายสั้นต้องเข้า
สีแดง | |
สีขาว | |
สีดำ |
และนี่ก็คือผลการทดสอบขับขี่เจ้าเดย์โทน่าโฉมใหม่รหัส 660 ซึ่งผลก็เป็นไปตามที่กล่าวไป โดยมีทั้งข้อดีและข้อสังเกตุในจุดต่าง ๆ ให้พิจารณา โดยราคาสำหรับรุ่นนี้เปิดตัวอยู่ที่ 327,300 บาท มีจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 3 สีได้แก่ สีแดง สีขาว และสีดำ
หากท่านไหนที่สนใจ สามารถไปลองขับขี่ ทดสอบตัวจริงได้ที่ตัวแทนจัดจำหน่าย ไทร์อัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ สาขาใกล้บ้านท่านได้เลย หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://www.triumphmotorcycles.co.th/ หรือทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ Triumph Motorcycles สำหรับครั้งต่อไปจะเป็นการรีวิวรถรุ่นไหนจากทาง ไทร์อัมพ์ ก็อย่าลืมฝากติดตามผลงาน SuperBike Thailand กันด้วยนะครับ
เขียนและเรียบเรียงโดย : Saeed Benchavichien (Seed SuperBike)
อ่านสเปกและรายละเอียด Triumph Daytona 660 คลิกที่นี่
รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก