Yamaha YZF-R1 2020 อัพเกรดความซิ่งด้วยความล้ำ

Yamaha YZF-R1 2020 อัพเกรดความซิ่งด้วยความล้ำ

Yamaha YZF-R1 2020

Yamaha YZF-R1 โมเดลรหัสนี้มีอายุอานาม 20 กว่าปีแล้วที่ Yamaha มี YZF-R1 เป็นเรือธงในส่วนของซูเปอร์ไบค์ หรือสปอร์ตไบค์พิกัด 1,000 ซีซี นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2008 มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน และคราวนี้ก็เป็นอีกครั้งที่มีการอัพเดตปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่มองผ่านๆ อาจจะไม่มากมายอะไรนัก แต่หากสังเกตให้ลึกลงไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงของโมเดล 2020 ก็จัดว่าเป็นเมเจอร์เชนจ์หรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เลยก็ว่าได้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงหน้าตาหรือรูปโฉมแต่เพียงอย่างเดียว

Yamaha YZF-R1M 2020

ทรงซิ่ง

เริ่มกันที่หน้าตารูปโฉมภายนอกกันก่อนดีกว่าครับ แน่นอนว่าลวดลายกราฟฟิกนั้นใหม่อยู่แล้ว แต่ตอนแรกคิดว่ามีชิ้นแฟริ่งตรงด้านหน้าถังน้ำมันเพิ่มเข้ามาเพียงอย่างเดียว ไฟหน้าก็ยังไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่พอเห็นตัวจริง ผมถึงได้เห็นถึงความแตกต่าง เรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนหมดเลย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือแฟริ่งหน้าและไฟหน้าครับ แฟริ่งหน้ามีความดุดันมากขึ้นมาในสไตล์เดียวกันกับ Yamaha M1 หรือรถแข่ง MotoGP ของทางค่าย ไฟหน้าก็ถูกออกแบบใหม่ย้ายตำแหน่งให้ต่ำลงมากว่าเดิม

Yamaha YZF-R1 2020

มิติลวดลายภายนอกมีการเพิ่มรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เข้าไป ทำให้ดูหรูขึ้น มีการปรับแต่งช่องลมต่างๆ รวมถึงชิลด์หน้าที่สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเก่า รวมถึงแฟริ่งด้านข้างที่ออกแบบมาให้เนียนเป็นชิ้นเดียวกับถังน้ำมันอลูมิเนียมน้ำหนักเบา เพื่อให้แอโรไดนามิกส์ดีขึ้น ซึ่งทางค่ายก็บอกว่าดีขึ้น 5% แถมมีบางคนบอกกับผมว่ามันดูคล้ายๆ กับ R6 ด้วย ซึ่งสำหรับผมแล้วโดยรวมนับว่าสวยขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับโมเดลเดิม จากการที่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเข้ามาครับ

Yamaha YZF-R1 2020

เครื่องเดิมแต่แรงขึ้น

เครื่องยังคงเป็นเครื่องครอสเพลน 4 สูบเรียงขนาด 998 ซีซีเช่นเดิม (ซึ่งโดดเด่นกว่า 4 สูบเรียงทั่วๆ ไปจากการที่ให้กำลังแรงบิดที่สมู้ทกว่า เนื่องจากองศาการจุดระเบิดที่ต่างออกไป) เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนภายในใหม่เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้ดีขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนไปคือมีการออกแบบฝาสูบ หัวฉีด กระเดื่องกดวาล์วและโปรไฟล์ของเพลาข้อเหวี่ยงใหม่ ให้การทำงานของวาล์วที่รอบสูงๆ เสถียรมากขึ้น จนตอนนี้ให้กำลังแรง 200 ม้าเรียบร้อยแล้ว

Yamaha YZF-R1 2020

ทั้งนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของฝั่งไอดีที่เมื่อควบรวมกับฝาสูบและตำแหน่งหัวฉีดใหม่แล้ว ช่วยให้เครื่องยนต์นั้นเผาไหม้ได้ดียิ่งขึ้นและทำงานได้เต็มสมรรถนะยิ่งขึ้น และเมื่อรวมกับระบบไอเสียใหม่ที่มีคาตาไลเซอร์ 4 ตัวแล้วยังช่วยให้เสียงเงียบขึ้นและยังทำให้ผ่านมาตรฐาน Euro5 ด้วย

ช่วงล่างใหม่ดีกว่าเดิม

หลายๆ ส่วนในช่วงล่างนั้นเหมือนเดิม เพราะดีอยู่แล้ว เช่น ล้อเดิม เพราะเป็นแม็กนีเซียมซึ่งดีอยู่แล้ว และดีกว่าบางค่าย ที่เป็นเพียงล้ออลูมิเนียม และไม่ได้มีแค่ใน R1M ด้วย R1 ธรรมดาก็มี ส่วนสวิงอาร์มก็ใช้แบบเดียวกับ R1M เหมือนกันแต่ปัดเงาเป็นสีเงิน

ส่วนที่เปลี่ยนใหม่นั้นก็มี เช่นในส่วนของยางดีกว่าเดิมเล็กน้อย เปลี่ยนมาใช้ Bridgestone ซึ่งดีกว่าเดิม แต่ยังมีอาการสไลด์อยู่บ้างเหมือนกันถ้าเปิดแรงๆ แต่ระบบของรถก็ช่วยได้อยู่ และก็จะมีในเรื่องของระบบกันสะเทือนจะมาเป็นของ KYB ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้าจะเป็นโช้คหัวกลับปรับแต่งได้ทุกค่า ส่วนด้านหลังก็จะเป็นโช้คหลังเดี่ยวทำงานร่วมกับกระเดื่องทดแรง ซึ่งปรับแต่งได้ทุกค่าเช่นกัน ส่วนกรณีของ R1M ก็จะเป็นโช้คไฟฟ้าของ Ohlins มาทั้งระบบ

อีกส่วนนึงคือระบบเบรก แม้จะไม่ได้จัดเต็มเป็น Brembo แต่ตัวคาลิเปอร์เบรกเรเดียลเมาท์ที่ให้มาก็เป็นโมโนบล็อกทั้ง R1 และ R1M อาจจะด้อยกว่าแบรนด์ดังที่ขนาดลูกสูบเบรกอาจจะเล็กกว่า หากเทียบค่ายยุโรปอาจะมีเสียเปรียบในจุดนี้ แต่ระบบเบรกนี้ใช้งานได้จริง ผมเองก็ใช้ R1 อยู่ ใช้ขี่ถนน ซึ่งก็รู้สึกว่าเบรกนั้นเพียงพอแล้ว แต่ตัวใหม่นี้มีการเปลี่ยนผ้าเบรกเพิ่มเติม ซึ่งก็ช่วยให้เบรกได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบใหม่อย่างเบรกคอนโทรลที่จะทำงานร่วมกับ ABS จาก Bosch ช่วยให้การเบรกหรือลดความเร็วทำได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดอาการลื่นไถลเวลาเบรกหนักๆ หรือว่าเบรกบนพื้นลื่นๆ ทั้งนี้ยังทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ IMU อีกด้วย

Yamaha YZF-R1 2020

ลองหวด

ผมรู้สึกว่าเจ้า R1 มันขี่ง่าย เลี้ยวเข้าโค้งง่าย เบา ตัวรถเองมีความสูงไม่ต่างจากเดิมมาก สำหรับผมต้องเขย่งนิดหน่อย ท่านั่งนั้นไม่ได้หมอบมากจนเกินไป หากจะนำขี่ถนนใช้ในชีวิตประจำวันก็พอได้ ขี่ในสนามก็โอเค ถังน้ำมันเว้ารับกับคางของหมวกกันน็อกเวลาที่เราหมอบ คือออกแบบมาได้ตอบสนองกับการขับขี่ในแบบสปอร์ตมากกว่า ค่อนไปทางเรซซิ่งค่อนข้างมากเลยทีเดียว

ในเรื่องของโหมดการขับขี่นั้นจะคล้ายๆ เดิม แต่มีการแสดงผลเรื่องการเบรกเพิ่มเข้ามาที่หน้าจอสี ช่วงแรกนั้นผมได้ใช้โหมด Power 2 ซึ่งยังไม่แรงสุด เพื่อให้ได้ทำความคุ้นเคยกับตัวรถ วอร์มรถก่อน ซึ่งก็ขี่ได้สบายๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก พออีกเซ็กชั่นได้ลองโหมด Power 1 คือโหมดเต็มกำลังแรงเต็มที่ ผมเปิดคันเร่งสัมผัสได้ว่ามีอาการหน้าลอย มีอาการสะบัดเล็กน้อย คิดในใจว่านี่ขนาดท่อเดิมยังรู้สึกว่ามันวิ่งได้ดี ตอนผมซัดทางตรงมี 270 – 280 เลย ตอนแรกขี่ท่อเดิมคิดว่ามันไม่เร็วมาก แต่พอมาดูความเร็วจริงๆ มันกลับเร็วกว่าที่คิดเยอะเลย น่าเสียดายที่ได้ขี่แต่ละเซ็กชั่นน้อยไปหน่อย ทำให้เทียบฟีลลิ่งยากนิดนึง แต่โชคดีที่ผมเองก็เป็นเจ้าของ Yamaha R1 มาก่อน จึงพอจะทำให้จับฟีลลิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

การตอบสนองและฟีลลิ่งของเครื่องยนต์เองก็ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ R1 ตัวเก่าที่ผมเคยทดสอบมา เพราะว่าตัวเก่านั้นเอ็นจิ้นเบรกจะน้อย แต่ตัวใหม่นี้มีการปรับแก้แล้ว มีระบบควบคุมเอ็นจิ้นเบรคเข้ามา ช่วยให้ควบคุมเอ็นจิ้นเบรคมากน้อยได้ดั่งใจมากขึ้น ลดอาการไหลของเครื่องยนต์ แน่นอนว่าฟีลลิ่งของครอสเพลนของ R1 ก็ให้ความรู้สึกที่มีเอกลักษณ์กว่าใคร เมื่อเทียบกับ 4 สูบเรียงแบบทั่วไป ผมว่ามันขี่ง่ายกว่า ไม่สวีดสวาด จะมีความนุ่มเนียน ขณะที่ 4 สูบเรียงทั่วไปก็จะค่อนข้างแว้ดๆ เพราะเปิดคันเร่งปุ๊บรอบก็ขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการกระชากหรือเสียจังหวะได้

ที่ชอบคือควิกชิฟเตอร์แบบสองทางนั้นฉลาด ทำงานได้รวดเร็ว ตอบสนองได้ดี บลิพคันเร่งแล้วเชนเกียร์รัวๆ ก็ยังทำงานได้ดี ไม่มีปัญหาว่าเข้าเกียร์ยาก กระตุก เข้าไม่ทัน หรือว่าว่าวเลย มีกันสะบัดที่อาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย เพราะรถมันแรงจริงๆ แนะนำว่าควรจะเปลี่ยน หากเราเป็นคนขี่รถเร็วจริงๆ ซึ่งหลายๆ ค่ายที่มีให้มาถ้าขี่หนักๆ จริงก็มีปัญหาเหมือนกัน นอกจากนี้ระบบเทคโนโลยีที่ให้มา ทำงานร่วมกันอย่างชาญฉลาด ไม่มีการกวนกันจนตัดกำลังเครื่อง แต่สามารถแยกแยะอาการของรถได้ละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น ควรตัดหรือลดทอนกำลังเครื่องยนต์อะไรยังไง

น่าเสียดายตอนที่ผมทดลองขับช่วงล่างไม่ได้มีโอกาสปรับแก้ ใช้ค่าที่ทางค่ายปรับมาให้ ซึ่งทางโรงงานน่าจะปรับมาให้สำหรับใช้ขี่ในสนามมาแล้ว จากการได้ลองขี่แล้วก็พบว่าไม่มีอาการใจหายน่าเป็นห่วง ไม่รู้สึกยวบเกิน หรือท้ายดิ้น หวดได้เลย ซัดกับสื่อเจ้าอื่นๆ ได้สบายๆ ช่วงล่างที่ให้มาดีกว่าเดิม

สรุป

สำหรับผมแล้วถ้าผมซื้อรถคันนี้ล่ะก็ งานนี้ก็คงต้องมาเปลี่ยนท่อ กันสะบัด ถ้าใครอยากจัดจ้านกว่านี้ก็โซ่ สเตอร์ เรียกว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ถ้าไม่ติดแฟชั่นหรือว่าจะเน้นจัดเต็มจัดหนัก เพราะเบรกเดิมก็เอาอยู่แล้ว เพียงพอต่อการใช้งาน แต่อาจจะไม่ถูกใจสายซิ่งบ้านเราที่นิยมกันว่าต้องไปให้สุดทาง และส่วนหลักๆ ที่ผมชอบคือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ระดับซูเปอร์ไบค์ยุคใหม่ที่มีในเจ้า R1 ที่ชาญฉลาดของมัน ไม่ว่าจะทั้งระบบคันเร่งไฟฟ้า ควิกชิฟเตอร์แบบสองทาง ระบบควบคุมเอ็นจิ้นเบรก พาวเวอร์โหมด ระบบแทร็กชั่นคอนโทรล ระบบควบคุมการสไลด์ ระบบควบคุมการลอยตัวของล้อ ระบบช่วยออกตัว และเซ็นเซอร์วัดแรงเฉื่อยแบบ 6 แกนที่คอยเติมเต็มทุกส่วน ช่วยให้ขี่ได้ง่ายขึ้น เพราะระบบประมวลผลและตอบสนองต่ออาการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเราได้มาก เสริมความปลอดภัยได้ดี และยังช่วยให้เรารีดสมรรถนะของรถได้มากขึ้น มือใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยได้ขี่สนามก็สามารถใช้ระบบต่างๆ เหล่านี้ช่วยได้ดี ครับ เรียกได้ว่ามือใหม่ก็ไม่มีปัญหา

และสุดท้ายนี้ผมคิดว่ามันจะเป็นรถที่ขี่ดีและสนุกมากหากว่าเราใช้ระบบต่างๆ พวกนี้จนคุ้นเคยและชำนาญแล้ว แต่ถ้าจะขี่เอาแรงอย่างเดียว ยกล้อเอามัน แบบวัยรุ่นวัยซิ่งแบบนั้นจะรถอะไรก็ทำได้ และนี่เองคือสิ่งที่ R1 แตกต่างจากซูเปอร์ไบค์คันอื่นๆ

Yamaha YZF-R1 2020

ทดสอบโดย Benz Racing
เรียบเรียง Thammarat Saelee
ขอบคุณ Yamaha ที่ให้โอกาสทดสอบรถพร้อมอำนวยความสะดวก

Specifications

Yamaha YZF-R1

เครื่องยนต์ 4 สูบเรียงแบบครอสเพลน ระบายความร้อนด้วยน้ำ 4 จังหวะ 4 สูบเรียงแบบครอสเพลน ระบายความร้อนด้วยน้ำ 4 จังหวะ
ปริมาตรกระบอกสูบ 998 ซีซี 998 ซีซี
ระบบวาล์ว 4 วาล์วต่อสูบ แบบ DOHC 4 วาล์วต่อสูบ แบบ DOHC
ขนาดกระบอกสูบ/ช่วงชัก 79.0 X 50.9 มม. 79.0 X 50.9 มม.
อัตราส่วนการอัด 13:1 13:1
ระบบเกียร์ 6 สปีด 6 สปีด
ระบบจุดระเบิด อิเล็กทรอนิกส์ อิเล็กทรอนิกส์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง หัวฉีด หัวฉีด
ระบบสตาร์ท สตาร์ทไฟฟ้า สตาร์ทไฟฟ้า
ระบบคลัทช์ คลัทช์เปียกแบบหลายแผ่นซ้อนกัน คลัทช์เปียกแบบหลายแผ่นซ้อนกัน
ยาว X กว้าง X สูง 2,055 X 690 X 1,150 มม. 2,055 X 690 X 1,150 มม.
ขนาดยางหน้า 120/70 – ZR17 120/70 – ZR17
ขนาดยางหลัง 190/55 – ZR17 200/55 – ZR17
ระบบกันสะเทือนหน้า โช้คหัวกลับ KYB ขนาด 43 มม.ปรับแต่งได้ทั้งระบบ ระยะยุบ 120 มม. โช้คไฟฟ้าหัวกลับ Ohlins NPX ปรับแต่งได้ทั้งระบบ ระยะยุบ 120 มม.
ระบบกันสะเทือนหลัง กระเดื่องและโช้คเดี่ยว KYB แบบปรับแต่งได้ทั้งระบบ ระยะยุบ 120 มม. กระเดื่องและโช้คไฟฟ้า Ohlins แบบปรับแต่งได้ทั้งระบบ ระยะยุบ 120 มม.
เบรคหน้า ดิสก์เบรกคู่ขนาด 320 มม. คาลิเปอร์เบรคเรเดียลเมาท์แบบ 4 พ็อต พร้อม ABS และ UBS ดิสก์เบรกคู่ขนาด 320 มม. คาลิเปอร์เบรคเรเดียลเมาท์แบบ 4 พ็อต พร้อม ABS และ UBS
เบรคหลัง ดิสก์เบรกเดี่ยวขนาด 220 มม. คาลิเปอร์เบรคแบบพ็อตเดียว พร้อม ABS และ UBS ดิสก์เบรกเดี่ยวขนาด 220 มม. คาลิเปอร์เบรคแบบพ็อตเดียว พร้อม ABS และ UBS
ระยะฐานล้อ 1,405 มม. 1,405 มม.
ความสูงเบาะ 855 มม. 855 มม.
น้ำหนักรถ 201 กก. 204 กก.
ความจุถังน้ำมัน 17 ลิตร 17 ลิตร
ราคา
ติดต่อ Facebook: https://www.facebook.com/YRCThailand/ Facebook: https://www.facebook.com/YRCThailand/

 

อ่านข่าวอื่นๆ คลิกที่นี่

ติดตามเราบนแฟนเพจคลิกที่นี่

รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก

- Advertisement -

บทความยอดนิยม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่