spot_img
spot_img
spot_img
spot_img

เมื่อ KTM RC8 ถูกจับแปลงร่างให้กลายเป็นคาเฟ่เรซเซอร์คันงาม

      เชื่อว่าเพื่อนๆหลายๆคนคงจะรู้จัก KTM RC8 SuperBike สองสูบลูกโตตัวแรงจากออสเตรีย ซึ่งก็มีคนบางกลุ่มนึกสนุก จับ RC8 มาแปลงร่างจนกลายเป็น Cafe Racer คันงาม 

      คาเฟ่เรซเซอร์ถือกำเนิดขึ้นราวๆ ยุค 60 และถึงแม้ว่ามอเตอร์ไบค์จะวิวัฒนาการไปมากมายสักแค่ไหน แต่นักบิดคาเฟ่พันธ์ุแท้ก็จะบอกคุณว่าคาเฟ่เรซเซอร์ที่แท้จริงนั้นคือรถอังกฤษสไตล์วินเทจ (อาจจะเป็นรถญี่ปุ่นก็ได้) นำมาถอดชิ้นส่วนที่จำเป็นออกและทำให้มันขี่ได้เร็วและมีสไตล์ แต่ถ้าหากว่าคุณอยากจะให้มันเร็วและแรงมากๆ ล่ะจะทำยังไง? ทีมของพ่อและลูกชาย Dino และ Marios Nikolaidis กับธุรกิจของครอบครัวภายใต้ชื่อว่า DNA Filters ที่เน้นทำรถที่เด่นด้วยสมรรถนะ ดังนั้นเมื่อพวกเขาตัดสินใจทำรถคาเฟ่เรซเซอร์เพื่อมาโชว์ในงาน EICMA ที่ผ่านนมา พวกเขาก็รู้ได้ในทันทีว่ามันจะต้องใช้รถจากออสเตรียที่ทรงพลังและทันสมัยแบรนด์สีส้มนั่นเอง

พวกเขายังรู้อีกว่าพวกเขาจะต้องโชว์สินค้าหลักของเขาให้เด่น ดังนั้นพวกเขาก็เลยตัดสินใจที่จะกำหนดให้กรองอากาศของพวกเขาเป็นจุดศูนย์กลางของรถคันนี้ ย้อนกลับไปในปี 2012 พวกเขาออกแบบกรองอากาศให้กับ KTM Super Duke เป็นพิเศษที่สุดท้ายก็สามารถคว้ารางวัลออกแบบยอดเยี่ยมอย่าง  Red Dot Design Award มาได้ และกลายเป็นตั๋วในการคัสตอมคาเฟ่เรซเซอร์คันใหม่คันนี้


ชุดกรองอากาศนั้นเดิมทีออกแบบมาให้ใช้กับเครื่องยนต์ LC8 990 ของทาง KTM  แต่มันยังมีพลังไม่สาแก่ใจสำหรับ Dino และ Marios ดังนั้นพวกเขาก็เลยมองไปที่ LC8 1190 ที่มากับเจ้า KTM RC8 แทน และพวกเขาก็เริ่มต้นโปรเจ็กต์ของพวกเขาและสุดท้ายพวกเขาก็ตกลงเลือกเจ้า RC8 R

KTM RC8

ตอนนั้นพวกเขายังคงพยายามหาเฟรมที่จะนำมาใช้ แต่พอเอาเจ้า RC8 ขึ้นแท่นและจับมาเปลื้องผ้าออก พวกเขาก็ประจักษ์ว่าเฟรมของมันคือแบบที่พวกเขาต้องการพอดี แต่กระนั้น Dino และ Marios ก็ยังใช้เวลา 2 อาทิตย์เต็มๆ ในการออกแบบมันจนเสร็จ เป้าหมายคือรถที่เพรียวบาง เส้นสายเรียบง่าย ไม่มีชิ้นส่วนพลาสติกหรือคาร์บอนไฟเบอร์ และเผยให้เห็นเครื่องยนต์และเฟรม จากภายนอกมันดูเป็นคลาสสิคคาเฟ่เรซเซอร์ แต่ภายในนั้นมันคือสัตว์ร้าย อย่างที่ Dino บอกไว้ว่า “เจ้านี่คือรถที่จะทำให้คุณต้องทึ่งด้วยความงาม พละกำลังและการควบคุม”

พ่อลูกทั้งสองต่างก็ชำนาญในการออกแบบด้วยโปรแกรม 3D CAD และโรงงานของ DNA ก็ตั้งอยู่ใน Athens ประเทศกรีซ ซึ่งมีเครื่อง’ CNC มากพอที่จะทำให้วิศวกรที่มากด้วยประสบการณ์ก็ยังเป็นลมได้ ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจที่สร้างรถด้วยตัวเองทั้งหมด แค่เพียง 2 คนเท่านั้น โดยหน้าที่รับผิดชอบของ Dino คือด้านหน้าของรถ ได้แก่ ถังน้ำมัน กรองอากาศ เรือนไมล์และออยคูลเลอร์ ส่วน Marios นั้นจะดูแลส่วนท้ายของรถ ได้แก่ เบาะนั่ง ส่วนใต้เบาะนั่งและซับเฟรม ชิ้นส่วนเหล่านี้แหละที่จะมากำหนดนิยามของ KTM คันที่ถือกำเนิดใหม่คันนี้ ทั้งสองใช้เวลา 2 เดือนในการออกแบบ โต้เถียง และทะเลาะกัน “แต่ผลลัพธ์ออกมายอดเยี่ยม”  Dino กล่าว

การสร้างทุกอย่างจากอลูมิเนียมนั้นไม่ได้ท้าทายเหมือนกับการหาวัสดุที่ดีที่เหมาะสม แต่พวกเขาต้องการโลหะผสมพิเศษมากๆ ที่ยืดหยุ่นและคลายความเครียดได้ดี ซึ่งจะต้องไม่บิดหรืองอหลังจากที่ขึ้นรูปมันจนเหลือความบางแค่เพียง 2 มม. ในที่สุดพวกเขาก็พบบริษัทที่ผลิตอลูมิเนียมป้อนให้กับอุตสาหกรรมอากาศยาน และพวกเขาก็จัดการกับโลหะราคาแพงและขนาดใหญ่ทั้ง 3 บล็อกเหล่านี้ทันที บล็อกของถังน้ำมันอย่างเดียวมีขนาด 700 มม. x 330 มม. x 230 มม. และหนัก 146 กก. อีก 2 บล็อกนั้นใช้ทำเบาะนั่งและส่วนด้านใต้ของเบาะนั่ง มีน้ำหนัก 60 กก.และ 24 กก.ตามลำดับ

การจะทำให้ถังน้ำมันออกมาให้ได้รูปทรงนั้นเป็นงานที่ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และเป็นงานที่เครียดมากด้วย เนื่องจากพวกเขามีบล็อกโลหะเพียงบล็อกเดียวเท่านั้น กระบวนการคว้านด้านในของถังน้ำมันเริ่มจากด้านล่าง จากนั้นพลิกกลับ ด้วยเลื่อยจิ๊กพิเศษ จากนั้นขึ้นรูปด้านนอก ด้านล่างมีเพลตแยกกันและมีช่องสำหรับใส่ปั๊มดูดน้ำมันที่ถูกเชื่อม TIG เข้ากับส่วนที่เหลือของถังน้ำมัน หลังจากการลงแรง 400 ชม. อัลลอยหนัก 146 กก.ก็กลายเป็นถังน้ำมันที่หนักเพียง 3.6 กก.

งานออกแบบนั้นรวมไปถึงท่อดูระดับน้ำมันเชื้อเพลิงแบบโอลด์สคูลที่ด้านข้างของคนขับ และฝาปิดถังน้ำมันที่พิเศษมากๆ ฝาถังนั้นทำขึ้นจากอลูมิเนียมและอโนไดซ์ด้วยสีส้ม และสลักตัว “D” ไว้ด้านบน พวงกุญแจรูปตัว D ก็ทำพิเศษและออกแบบให้เข้ากับฝาถังนน้ำมันและสามารถใช้เปิดฝาถังได้ มันถึงขนาดกับมีตัวรับส่งสัญญาณ NFC ด้านในพวงกุญแจเพื่อที่จะใช้สั่งงานระบบสตาร์ทรถโดยไม่ต้องใช้กุญแจของเจ้า RC8 เลยทีเดียว


ย้ายไปที่ด้านท้ายของรถ Dino และ Marios จัดการตัดทุกอย่างที่พวกเขาไม่ต้องการและจัดการซับเฟรมท้ายขึ้นมาใหม่ เบาะนั่งและส่วนล่างใต้เบาะนั่งถูกทำขึ้นใหม่และประกอบเข้าด้วยกัน โดยมีส่วนที่ต่ำกว่านั้นทำหน้าที่เป็นส่วนนึงของซับเฟรมเพื่อช่วยรับแรงเครียด ชิ้นส่วนทั้ง 2 ชิ้นออกแบบมาให้ประกอบเข้าด้วยกันแบบแนบเนียนไม่เห็นตัวยึด ทำให้งานดูเนี้ยบ เขาซุกแบตเตอรีี่ กล่องฟิวส์ รีเลย์ และระบบไฟต่างๆ ไว้ในโหนกท้ายรถ และยังมีไฟท้ายแบบ LED ฝังอยู่ในท้ายรถอีกด้วย

ชิ้นส่วน CNC อื่นๆ ก็ได้แก่ บังโคลน ครอบเรือนไมล์ สวิตช์ ชุดท้าย และอื่นๆ อีก กระทั่งไฟหน้าเองก็คัสตอมขึ้นมาเองโดยใช้หลอด LED ด้านในและยังทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์วัดมุมเอียงเพื่อปรับลำแสงไฟหน้าเวลาเข้าโค้งได้ ทุกชิ้่นส่วนที่คัสตอมขึ้นนั้นมาจากอลูมิเนียม เหล็กกล้าหรือไม่ก็ Delrin (พลาสติกวิศวกรรม)


Dino และ Marios ต้องการที่จะขับเน้นงาน CNC ที่ทุ่มลงมาในตัวรถ ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะไม่ขัดหรือปัดเงาใดๆ เพื่อที่จะลบมาร์คจากเครื่องมือที่ใช้มิลลิ่ง แทนที่จะพวกเขาจะทดลองหลายๆ รูปแบบจนกระทั่งพวกเขาเจอแบบที่พวกเขาชอบ จากนั้นค่อยเคลือบใสหรืออโนไดซ์ทุกอย่าง เฟรมและซับเฟรมถูกชุบด้วยสีดำพิเศษ


พองานบอดี้เวิร์คเสร็จ พวกเขาก็เปลี่ยนไปเน้นเรีื่องสมรรถนะ เชื่อหรือไม่ครับว่าเครื่องยนต์เดิมนั้นมีแรงม้า 175 แรงม้าซึ่งไม่เพียงพอสำหรับพวกเขา และเป็นเพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าเขาเป็นเจ้าของแบรนด์กรองอากาศ กรองอากาศจึงยื่นทะลุออกมาจากถังน้ำมัน และยังได้เพิ่มท่อไอเสีย Akrapovic ที่ทำคัสตอมขึ้น คอท่อเป็นไทเทเนียม และปลายท่อแบบรถสูตร พวกเขาเลือกที่จะจูนมันด้วยชุดเรซคิทจาก  KTM Power Parts ทำให้ได้แรงม้า 186 แรงม้าที่ล้อหลัง นอกจากนี้ยังมีการอัพเกรดอื่นๆ อย่าง ควิกชิฟเตอร์ สลิปเปอร์คลัทช์ กันสะบัดคัสตอมและชุดเบรคแบบเน้นๆ


      ระหว่างการพัฒนา KTM คันนี้มันใช้ชื่อว่า ‘DCR-017’ (DNA Café Racer, 2017) แต่ทันทีที่มันถูกเข็นออกมาทดสอบครั้งแรก Dino และ Marios ก็เรียกชื่อมันว่า ‘The Brain Eraser’ “เป็นชื่อเล่นที่เป็นผลจากการได้ทดลองขี่ สัมผัส และสตาร์ทเครื่องมัน” Dino อธิบาย “ลืมไปเลยว่าที่ผ่านมาคุณทำอะไร คุณจะเข้าไปสู่มิติใหม่ และ Brain Eraser รออยู่ที่นั่น”


By: Wesley Reyneke     Translate & Edit: Benz

- Advertisement -

บทความยอดนิยม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่