spot_img
spot_img
spot_img
spot_img

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์ จำเป็นหรือไม่ ? เรามีคำตอบ

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์ จำเป็นหรือไม่ ? เรามีคำตอบ

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์
ทริปทดสอบขับขี่ CBR650R E-Clutch ณ ทะเลสาบโคโม ประเทศอิตาลี

ไหน..ขอซาวน์เช็คหน่อย พี่ ๆ น้อง ๆ ไบค์เกอร์ท่านไหนที่เคยประสบปัญหาออกตัวรถดับ สับเกียร์ว่าว จอดไฟแดงไล่หาเกียร์ N ไม่เจอ หรือลืมเปลี่ยนเกียร์ตอนออกตัว ทำเอาซะเขินต่อหน้าชาวหมู่คณะ ละถ้ายิ่งเป็นรถซีซีใหญ่ ก็มักจะเป็นจุดเด่นต่อสายตาของผู้คนข้าง ๆ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วหล่ะก็ คงเก็บทรงกันไม่อยู่ทีเดียว หรือจะต้องพึ่ง ระบบเกียร์ไร้คลัชต์ ระบบที่ไม่ต้องกำคลัตช์ต่อไป แล้วมันจำเป็นหรือไม่? 

อะไรคือ ระบบเกียร์ไร้คลัตช์ ?

ยืนยันว่าล้านเปอร์เซ็นต์ที่ไบค์เกอร์ประสบปัญหาเหล่านี้ โดยเราจะมาเจาะรายละเอียดของระบบไร้คลัตช์ซึ่งต้องเรียนว่ารถมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์สันดาป ทุกรุ่น ต้องมาคู่กับระบบคลัตช์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคลัตช์แมนนวล คลัตช์มือ เซมิออโต้คลัตช์ ออโต้คลัตช์หรือกระทั่งไฮดรอลิกคลัตช์ ซึ่งถ้าหากจะไม่มีคลัตช์เลย มันก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะจริง ๆ แล้วระบบไร้คลัตช์ ยังคงเป็นกลไกสิ่งหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ขับขี่ ไม่ต้องกำคลัตช์อีกต่อไป โดยปัจจุบันระบบไร้คลัตช์ที่เราพบเห็นมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน (ถ้าไม่นับ CVT) แต่ถ้าจะนับก็มี 4 เอ๊ะ..ยังไง

แบบที่ 1 : Dual Clutch Transmission

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์
เครื่องยนต์ DCT เอกสิทธิ์หัวใจหลักของนักเดินทางจากฮอนด้า

ระบบเกียร์ที่เรารู้จักกันได้ในนามของ DCT ซึ่งนิยมใช้ในหมู่บิ๊กไบค์จากค่ายปีกนกอย่าง Honda NC750, Honda CRF1100 Africa Twin, X-ADV 750, Goldwing เป็นต้น ซึ่งระบบ DCT จะแยกคลัตช์เป็น 2 ชุด ชุดนึงจับเกียร์เลขคี่ อีกชุดนึงจับเกียร์เลขคู่ เมื่อเวลาเปลี่ยนเกียร์ คลัตช์ก็จะสลับการทำงาน ตัวนึงจับ ตัวนึงคลาย ตู้มต้าม ๆๆ

หากพูดง่าย ๆ ระบบนี้จะใกล้เคียงกับรถยนต์ออโต้มากที่สุด คือ..ไม่จำเป็นต้องมีก้านคลัตช์ที่แฮนด์ ควบคุมปุ่มเกียร์ด้วยมือหรือพักเท้าแทนหรือจะขี่แบบออโต้ยังไงก็ได้..เอาที่สะดวกเลย

แบบที่ 2 : Automated Manual Transmission (AMT)

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์
ระบบเกียร์ Y-AMT จากยามาฮ่า ซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้ในรถบิ๊กไบค์คลาส 700 – 1,000 ซีซี

คำแปลของเทคโนโลยีนี้อาจจะงง ๆ เพราะมันคือ ระบบเกียร์ธรรมดาอัตโนมัติ ถ้าไม่ซีในคำแปลมันก็คือระบบ ๆ หนึ่ง ทำงานตามชื่อเลยและยังใช้เกียร์ธรรมดาเป็นพื้นฐาน แต่ชุดเกียร์เหล่านี้จะถูกควบคุมคลัตช์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทำงานตามคำสั่งของ ECU ซึ่งจะทำหน้าที่บีบคลัตช์หรือโยกเกียร์แทนคนขับนั่นเอง 

โดยกลไกของระบบเหล่านี้จะไม่มีก้านคัลตช์รวมถึงคันเกียร์ที่บริเวณพักเท้า แต่จะให้ระบบควบคุมเกียร์แมนนวลมาในลักษณะคันโยกซึ่งสามารถปรับได้ด้วยมือผู้ขับขี่นั่นเอง และแค่นั้นยังไม่พอระบบเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติได้ตามรอบเครื่อง หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามีโหมดออโต้ให้ขี่ เพิ่มความสบายมากขึ้นเป็นกอง

โดยรถที่ใช้ระบบเกียร์ดังกล่าวคงไม่พ้นYamaha Y-AMT อย่าง MT-09, Tracer 9GT, MT-07 Y-AMT และรุ่นอื่น ๆ  และไม่ใช่เพียงค่ายยามาฮ่าเท่านั้น ค่าย KTM ก็ให้ความสนใจเจ้าระบบนี้เช่นเดียวกันโดยพัฒนาระบบ KTM AMT มาใช้ในรถซูเปอร์แอดเวนเจอร์นั่นเอง 

เสริมในเรื่องความต่างระหว่าง AMT กับ DCT แบบง่าย ๆ ซักเล็กน้อยก็คือ เจ้า AMT มันมีมอเตอร์เพื่อกด-คลายคลัตช์ เหมือนมีคนช่วยบีบคลัตช์ให้ตอนเปลี่ยนเกียร์ แทนกำลังบีบที่มือ ซึ่งจะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจจับความเร็วที่ล้อ รอบเครื่อง แรงม้าเพื่อตัดต่อกำลังของเครื่องยนต์ ความเจ๋งของระบบนี้ ก็คือฟีลลิ่งของรอบการเปลี่ยนเกียร์ไม่แตกต่างจากระบบเกียร์ธรรมดา แค่เปลี่ยนโหมด Automated ไม่ต้องกำคลัตช์ก็ได้หรือในรถบางรุ่น สามารถใช้แบบฟลูออโต้ได้เลย บิด ๆ อย่างเดียว

แบบที่ 3 : Smart Clutch System

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์
ระบบคลัตช์ในรุ่นของ MV Agusta Turismo Veloce Lusso SCS

น่าจะมีแค่หนึ่งเดียวที่ใช้ระบบนี้ และไม่เข้าไทยด้วยนั่นคือระบบ SCS หรือ Smart Clutch System ในรถ MV Agusta Turismo Veloce Lusso SCS ซึ่งจะแตกต่างจากทั้ง 2 แบบ ด้านบน เพราะใช้กลไกภายในถ้วยคลัตช์ของรุ่นนี้ที่เรียกกันว่า Clutch Expander ที่จะขยายตัวเพื่อดันให้คลัตช์จับตัวและหดลงเพื่อคลาย เป็นระบบเครื่องกลที่จะทำงานตามรอบ รวมทั้งมีเซ็นเซอร์ไว้ส่งข้อมูลไปยังกล่องเพื่อการเปลี่ยนเกียร์ด้วยควิกชิฟเตอร์อีกที

แบบที่ 4 : Continuously Variable Transmission (CVT)

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์
ระบบคลัตช์ CVT ที่ใช้ในรถออโตเมติกทั่วไป

อันนี้ก็ถือว่านับด้วยกับระบบคลัตช์สายพานในรถจำพวกสกูตเตอร์ ซึ่งคลัตช์รุ่นนี้จะอยู่ในตัวเครื่องเป็นเสมือนเกียร์บ็อกซ์ที่ใช่ชามหน้า-หลัง ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อหลังผ่านตัวเชื่อมด้วยสายพาน เอาจริง ๆ ระบบนี้ไม่ขอเรียกว่าเกียร์ดีกว่าเพราะมันต่างกันโดยสิ้นเชิง

Yamaha MT-09 Y-AMT @ YRA บางนา

แน่นอนว่าคนขี่มอเตอร์ไซค์หัวโบราณอย่างแอดมิน ขี่รถมีคลัตช์เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งอาจจะดูลำบากลำบนเวลาไปจ่ายตลาดรวมถึงเวลาขี่มุดซอกแซกช่วงรถติด กำคลาย ๆ คลัตช์กันเป็นว่าเล่น ซึ่งถามว่าเมื่อยไหม..ก็เมื่อย แต่ในเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาไกลแล้วที่ระบบคลัตช์ ไม่ต้องจำเป็นอีกต่อไป และ ECU ในรุ่นปัจจุบันนี้ ฉลาดพอที่จะอ่านและทำงานแทนมือข้างซ้ายผู้คนขี่แล้ว ก็นับว่าเป็นความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

แล้วข้อดี-ข้อเสีย มีอะไรบ้าง

ข้อดี

ระบบเกียร์ไร้คลัตช์
จับเจ้า CB650R E-Clutch ทดสอบขับขี่บนถนนในย่านฝั่งธนฯ
  • ขับขี่ง่ายขึ้น ไม่หลง ไม่เลยเกียร์ เวลาจอดไฟแดงไม่ต้องงมหาเกียร์ N จากเดิมที่กระดิกเท้าเป็นจังหวะเพลงป๊อบของไมเคิล แจ็คสัน ตอนนี้ก็ไม่ต้อง เอาขาลงได้เลย 
  • เปลี่ยนเกียร์เนียน เร็วต่อเนื่อง ตู้ม ต้าม เวลาขี่ ช่วงที่เพิ่มความเร็ว เดี๋ยวเพิ่ม เดี๋ยวลด ง่ายกับชีวิตขึ้นเยอะ 
  • ลืมไปเลยว่าเคยกระตุกเข้าเกียร์ไม่สุด หรือเกียร์ว่าว ปัญหาคลาสิกยอดฮิตของไบค์เกอร์รถใช้คลัตช์

ข้อเสีย

  • ถ้าไม่มีคลัตช์ แล้วจะคลุมคลัตช์ยังไง ? ในบางสถานการณ์ เน้นว่าแค่บางสถานการณ์ คลัตช์จำเป็นต้องใช้เพื่อตัดกำลัง หรือให้เห็นภาพง่ายก็คือ ยกล้อ ถ้ารถซีซีน้อย ทอร์คไม่หนัก จะอัดคันเร่งยก เป็นไปได้ยาก ระบบนี้นี้ไม่ช่วยส่งเสริมให้แอดได้เรียนการยกล้อหน้าเลย 
  • น้ำหนักเพิ่ม สำหรับระบบเกียร์ DCT หรือ AMT มีน้ำหนักมากกว่าเกียร์ธรรมดาแน่นอน เพราะต้องพึ่งอุปกรณ์เสริม ยกตัวอย่างเช่น CBR650R E-Clutch ก็จะมีกล่องเป็นก้อน ๆ เหมือนเนื้องอกเพิ่มขึ้นมา รวมถึง Yamaha MT-09 Y-AMT ก็จะมีระบบเสริมขึ้นมาเช่นกัน
  • ราคา การเซอร์วิส เกียร์ออโต้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และพึ่งพาเซ็นเซอร์rหลายอย่างรวมถึงระบบ อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการตัด-ต่อกำลังเครื่อง จึงทำให้ราคานั้นสูงกว่ารุ่นปกติ อยู่หลายบาททีเดียว
เทส CB650R E-Clutch ณ สนามแก่งกระจาน เซอร์กิต จ.เพชรบุรี

แล้วคุณคิดว่าอย่างไร? คุณชอบ มอเตอร์ไซค์แมนนวลแบบเดิม หรือคิดว่าเทคโนโลยี E-Clutch, Y-AMT และ DCT คืออนาคตของวงการมอเตอร์ไซค์? คอมเมนต์บอกเราด้านล่าง!

อ่านข่าวอื่นๆ คลิกที่นี่

รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก

- Advertisement -
SeedZaad
SeedZaad
Photographer, Moto-Tech Geek🤓. Speed Freak, and Two wheels fanatics. I🏊‍♂️Ride🚵‍♂️Bikes🏃

บทความยอดนิยม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่