spot_img
spot_img
spot_img
spot_img

ผ้าเบรก เลือกผิด ไม่ใช่แค่เสียเงินเปล่า

ผ้าเบรก คำนี้ผมเชื่อว่าทุกคนที่ใช้รถจะต้องรู้จัก และรู้ถึงความสำคัญของชิ้นส่วนรถยนต์ชิ้นนี้ดี แน่นอนว่าผ้าเบรกไม่ใช่ว่าซื้ออะไรไปก็ใช้ได้ จริงอยู่ที่เข้าศูนย์ใช้ของศูนย์ของเดิมตรงรุ่นมันก็จบ แต่จริงๆ แล้วมันก็มีรายละเอียดของมัน และยิ่งไบค์เกอร์ส่วนใหญ่ที่ชอบการแต่งรถ ชอบการอัพเกรดสมรรถนะของรถ แน่นอนว่าก็ต้องใส่ใจเรื่องนี้ด้วย

ผ้าเบรก
ผ้าเบรก Brembo

ก่อนอื่นเรามาพูดถึงเรื่องระบบเบรกกันก่อนครับ ในวงการมอเตอร์ไซค์นั้น ดิสก์เบรกเริ่มต้นใช้งานกันแพร่หลายตั้งแต่ในช่วง 1960 เป็นต้นมา ระบบเบรกแบบดิสก์เบรกนั้นมีชิ้นส่วนหลัก 2 ชิ้นที่เป็นตัวหยุดจานเบรก อย่างแรกคือตัวจานเบรกที่ถูกยึดติดเข้ากับล้อซึ่งจะหมุนไปพร้อมๆ กับล้อ และผ้าเบรกซึ่งจะอยู่กับคาลิเปอร์เบรกที่จะหนีบอยู่บนจานเบรกเพื่อลดความเร็วลงจนกระทั่งหยุดล้อหยุดหมุนในที่สุด

เนื่องจากแรงหนีบที่เกิดขึ้นจากผ้าเบรกที่อยู่กับที่และจานเบรกที่กำลังหมุนทำให้รถนั้นช้าลง และจะมีการเกิดแรงเสียดทานมหาศาลเกิดขึ้นระหว่างผ้าเบรกและจานเบรก แรงเสียดทานคือสิ่งที่ทำให้รถนั้นหยุด แต่มันยังเป็นตัวกำหนดด้วยว่ารถนั้นจะหยุดแบบไหน

ตัวอย่างเช่น ผ้าเบรกแบบออร์แกนิคที่นุ่มกว่าจะให้แรงเบรกที่เนียนและสม่ำเสมอมากกว่าเวลาเรากดเบรก ขณะที่ผ้าเบรกแบบซินเตอร์ (โลหะเผาผนึก) จะให้แรงจิกที่มากกว่า ให้แรงเบรกสูงสุดรวดเร็วแทบจะทันทีที่เราแตกเบรก ผ้าเบรกทั้งคู่ช่วยหยุดรถได้ แต่ออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน ทั้งนี้เป็นเพราะของส่วมผสมในผ้าเบรกที่ถูกผลิตขึ้นมานั่นเอง

นอกจากนี้ เนื่องจากการเบรกคือผลลัพธ์จากการที่หน้าสัมผัสของผ้าเบรกและจานเบรกเสียดสีกัน วัสดุที่ใช้ผลิตทั้งผ้าเบรกและจานเบรกก็จะต้องผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานร่วมกันเป็นเหมือนทีมเวิร์ก ผ้าเบรกแบบซินเตอร์ที่ให้แรงจิกที่มากจะทำงานได้ดีกับจานเบรกแบบสเตนเลสสตีลที่แข็ง แต่ถ้ามาใช้กับจานเบรกแบบเหล็กหล่อ ผ้าเบรกก็อาจจะกัดจาน จนจานเบรกเสียได้ภายในเวลาไม่นาน

 

จานเบรกแบบสเตนเลสสตีล

 

จานเบรกแบบเหล็กหล่อ

ส่วนมากจานเบรกทั่วไปก็มักจะเป็นจานเบรกแบบสเตนเลสสตีลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงสามารถเลือกใช้ผ้าเบรกแบบซินเตอร์ได้เลย แต่ถ้ารถของคุณใช้จานเบรกแต่งก็อาจจะต้องดูวัสดุที่ใช้ผลิตจานเบรกด้วย ถ้าจานเบรกแต่งของคุณทำจากเหล็กหล่อหรือวัสดุอื่น คุณเช็คกับผู้ผลิตให้ดีว่าจะต้องใช้ผ้าเบรกแบบใดถึงจะเหมาะกับจานเบรกของคุณ

ผ้าเบรกซินเตอร์

ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องผ้าเบรก ประเด็นหลักของเรากันต่อกันดีกว่า โดยพื้นฐานแล้วผ้าเบรกจะมีด้วยกัน 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ออร์แกนิค ซินเตอร์ และเซรามิก อย่างไรก็ดี มันก็ยังมีผ้าเบรกลูกผสมอีกด้วย เช่น เซมิซินเตอร์หรือ เซมิเมทัลลิก ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างออร์แกนิคกับซินเตอร์ เพื่อดึงเอาจุดเด่นของผ้าเบรกทั้ง 2 ชนิดเข้ามาไว้ด้วยกัน

ผ้าเบรกซินเตอร์ทำจากอนุภาคโลหะ (มักจะเป็นทองแดง) ผสมเข้าด้วยกันด้วยความร้อนและความดัน ผ้าเบรกชนิดนี้จะมีอายุการใช้งานยาวนานและใช้งานได้ดีภายใต้การทำงานหนัก ผ้าเบรกส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของเดิมโรงงานหรือของแต่ง มักจะเป็นชนิดซินเตอร์

ผ้าเบรก ออแกร์นิค

ส่วนผ้าเบรกออร์แกนิคจะต่างออกไปด้วยฟีลลิ่งที่ไม่เหมือนใคร ให้พลังเบรกที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และแทนที่จะใช้อนุภาคโลหะ ออร์แกนิคจะใช้ส่วนผสมจำพวกเส้นใยอารามิด คาร์บอน หรือเคฟลาร์ผสานรวมกันด้วยเรซิ่น

ผ้าเบรกทั้งสองชนิดข้างต้นต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผ้าเบรกออร์แกนิคจะนุ่มกว่า จึงให้ฟีลลิ่งในการเบรกที่นุ่มนวลกว่าและไม่สร้างรอดขูดขีดให้กับจานเบรกที่มีราคาแพง แต่พวกมันก็จะหมดเร็วกว่ามาก ผ้าเบรกซินเตอร์จะขูดจานเบรกมากกว่า กินจานเบรกเร็วกว่า แต่ก็ให้แรงจิกที่มากกว่า

สำหรับการขับขี่ทั่วๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะผ้าเบรกแบบไหนก็จะทำงานได้ดีพอๆ กัน ยกเว้น การขับขี่ในแทร็กหรือการขับขี่แบบเรซซิ่ง ซึ่งผ้าเบรกแบบซินเตอร์จะได้เปรียบกว่า โดยรวมแล้ว ผ้าเบรกที่เหมาะกับรถของคุณนั้นจะต้องคำนึงถึงเรื่องความต้องการของนักบิดและอายุการใช้งานซะส่วนมาก

ด้านผ้าเบรกลูกครึ่งอย่างเซมิซินเตอร์ ก็อย่างที่บอกเลย ผ้าเบรกชนิดนี้จะมีข้อดีผสมผสานกัน ด้วยการผสมอนุภาคโลหะเข้าไปผสมกับส่วนผสมของออร์แกนิคเพื่อให้มีแรงจิกเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เบรกได้นุ่มนวลโดยไม่ต้องใช้ผ้าเบรกออร์แกนิค

ผ้าเบรกเซรามิก

และสุดท้ายผ้าเบรกชนิดเซรามิก ซึ่งใช้ส่วนผสมเซรามิกเข้าไปแทนที่โลหะในผ้าเบรกซินเตอร์ ช่วยให้สามารถรับมือกับอุณหภูมิสูงๆ เวลาเบรกได้ ทำให้เกิดอาการเบรกเฟดหรือเบรกหายได้ยากขึ้น ทั้งยังระบายความร้อนได้เร็วกว่า ตัวผ้าเบรกยังสร้างฝุ่นเบรกน้อย อีกทั้งยังสึกหลอน้อยกว่าทั้งตัวผ้าเบรกและจานเบรก แต่ข้อเสียก็คือแรงจิกที่ได้น้อยกว่าผ้าเบรกซินเตอร์ดังนั้นแรงเบรกก็น้อยตามไปด้วย อีกทั้งในขณะที่อุณหภูมิต่ำเกินไปประสิทธิภาพในการเบรกก็จะน้อยลง มักจะใช้ในการแข่งขัน

สรุปสิ่งที่ควรคำนึงถึงเวลาซื้อผ้าเบรก

  • ชนิดจานเบรกของรถเราเอง เป็นวัสดุแบบไหน แล้วเลือกคอมปาวด์ของเบรก
    • จานเบรกแบบสเตนเลสสตีล ให้เลือกผ้าเบรกซินเตอร์
    • จานเบรกแบบเหล็กหล่อ ให้เลือกผ้าเบรกออร์แกนิค
    • จานเบรกแบบคาร์บอนเซรามิก ให้ใช้ผ้าเบรกเซรามิก (ปกติใช้กันแต่ในรถแข่ง)
  • สไตล์การขับขี่ของเรา เรซซิ่งหรือเปล่า ขับขี่ในชีวิตประจำวัน
    • ถ้าขับขี่ในสนามให้เลือกผ้าเบรกซินเตอร์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูจานเบรกด้วย
    • ถ้าเรซซิ่งเลยก็อาจจะใช้ผ้าเบรกเซรามิก แต่ต้องดูจานเบรกด้วย

นอกจากสิ่งที่ต้องคำนึงข้างต้นแล้ว เลือกให้ตรงกับคาลิเปอร์ด้วยนะครับ ว่าเราใช้แบบไหนได้บ้าง และที่สำคัญศึกษาผ้าเบรกของแต่ละแบรนด์ให้ดี เพราะแต่ละแบรนด์ก็จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไป แต่มักจะมีคำว่า Organic หรือ Sinter บอกเสมอ แต่อาจจะมีหลายเกรดอีก ให้เลือกตามงบประมาณ ตามความเหมาะสม ตามประเภทรถครับผม เท่านี้ผมก็เชื่อว่าทุกคนน่าจะเลือกผ้าเบรกได้ถูกต้องแล้วล่ะครับผม

* การเลือกผ้าเบรกผิด นอกจากจะสิ้นเปลืองจากการที่ผ้าเบรกกัดจานเสียหาย หมดเร็ว หรืออื่นๆ ยังอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย โปรดสอบถามจากช่างเทคนิคผู้ชำนาญการด้วย

อ่านข่าวอื่นๆ คลิกที่นี่

ติดตามเราบนแฟนเพจคลิกที่นี่

รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก

- Advertisement -

บทความยอดนิยม