รีวิว ทดสอบ Yamaha SCR950 ที่ทุกคนต้องรู้ถึงสรรถนะเครื่อง V-Twin ของยามาฮ่าที่แท้จริง กับการทดสอบอย่างจัดเต็มกับ Test Rider SuperBikemag.com
เมื่อโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่ล้ำสมัย คนส่วนใหญ่ก็แสวงหาความทันสมัย ทว่าท่ามกลางผู้คนจำนวนมากที่ถวิลหาความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ยังมีคนสวนกระแสไปแสวงหาความคลาสสิค ความเก๋า รสนิยม หรืออะไรที่มันร่วมสมัยมากกว่า แน่นอนมันทำให้เกิดกระแสของเรโทร และ Yamaha ก็เดินสายนีโอเรโทรมาสักพักแล้ว คราวนี้ก็เป็นคราวที่จะรุกตลาดด้วยสแครมเบลอร์สักที
เหมือนตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ไบค์เกอร์หลายๆ คนนิยมรถในสไตล์เรโทร ค่ายรถหลายๆ ค่ายเองก็มีโมเดลรถในสไตลเรโทรเพิ่มมากขึ้น บวกรวมกับกระแสของรถในสไตล์สแครมเบลอร์ที่ถูกจุดขึ้นมาจากค่ายแดงค่ายดังค่ายนึง จนตอนนี้หลายๆ ค่ายมีรถในสไตล์สแครมเบลอร์กับเขาด้วย แน่นอนว่า Yamaha ค่ายรถจากแดนปลาดิบเองก็มีรถในสไตล์นี้ด้วยเช่นกัน โดยใช้ชื่อโมเดลว่า SCR950 นั่นเอง แต่หากจะว่ากันจริงๆ มันก็ไม่ใช่รถสไตล์สแครมเบลอร์คันแรกของทางค่าย และหากจะสืบสานหาต้นตอจริงๆ ก็น่าจะเป็น Yamaha ในตระกูล DT ที่เป็นรถออฟโร้ดดั้งเดิมที่ถือกำเนิดในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ช่วงที่ตลาดรถมอเตอร์ไบค์ในอเมริกากำลังซบเซา แต่งานนี้ต้องชมเชยทีมการตลาดของ Yamaha ที่สามารถสำรวจตลาดและล่วงรู้ได้ว่าแม้ตลาดมอเตอร์ไบค์จะซบเซา แต่รถออฟโร้ดกลับขายดีขึ้น หลายๆ ค่ายในตอนนั้นเองก็ทำกันแต่รถออนโร้ด มีน้อยค่ายนักที่จะมีรถออฟโร้ด เจ้าของรถออนโร้ดหลายคนเลือกที่จะทำรถตัวเองให้เป็นรถที่ขี่ออฟโร้ดได้ เช่นมีการยกปลายท่อให้สูงขึ้น ใส่แฮนด์บาร์ใหม่ และใส่การ์ดอกล่าง หรือแบชเพลต ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดการทำสแครมเบลอร์ก็ว่าได้ และ Yamaha ก็ใช้โอกาสนี้เปิดตัวรถในตระกูล DT อย่าง DT-1 ในปี 1968 ซึ่งจะว่าเป็นต้นตระกูลของ SCR950 ก็ว่าได้ และเจ้า DT-1 ก็ขายหมดอย่างรวดเร็ว แม้จะผลิตมากถึง 12,000 คัน นับว่า Yamaha ใช้โอกาสนี้ได้ดี ดังนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า SCR950 ก็คือ โมเดลสแครมเบลอร์ที่ถือกำเนิดใหม่ของ Yamaha ก็ว่าได้
หล่อเก๋า
ชัดเจนครับว่าเจ้า Yamaha SCR950 คันนี้มีสไตล์ที่คลาสสิคโดดเด่น จนเรื่องรูปโฉมนั้นโดยส่วนตัวนั้นผมให้ 9 คะแนนจากเต็ม 10 เลย มันมีความคลาสสิคแบบมาเต็มๆ เก็บรายละเอียดความคลาสสิคย้อนยุคได้อย่างลงตัว ทั้งยังแอบแฝงความเป็นโมเดิร์นลงไปเล็กน้อย จุดเด่นหลักๆ ของ SCR950 คือ ไฟทรงกลม ทั้งไฟหน้า ไฟท้ายและไฟเลี้ยว เบาะนั่งแบบบาง ป้ายติดเบอร์รถแข่งด้านข้างรถในสไตล์ของรถแข่งในสมัยก่อน ยางกันฝุ่นที่โช้คหน้าในแบบของรถในสมัยก่อน การ์ดท้องเครื่องยนต์ด้านล่าง และเป็นล้อซี่ลวดที่เป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้รถคันนี้ทั้งคลาสสิคและขี่ลุยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่กล่าวมานี้คือส่วนที่เสริมเติมความคลาสสิคให้กับ SCR950 ขณะที่ในส่วนของความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกแอบเติมเพิ่มลงไปก็จะมีเรือนไมล์ดิจิตอล ชุดไฟหน้าและท้ายแบบ LEDที่ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยยามค่ำคืนได้เป็นอย่างดี
ขุมพลังวีทวิน
เครื่องยนต์ของเจ้า SCR950 นั้นไม่ได้เป็นเครื่องยนต์ใหม่อะไร เพราะเป็นเครื่องยนต์บล็อกเดียวกับ Yamaha Bolt ซึ่งเป็นเครื่องยนต์แบบวีทวินขนาด 942 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งมีกรองอากาศอยู่ข้างๆ ด้านขวามือ เป็นเอกลักษณ์อย่างนึงของเครื่องวีทวินของ Yamaha ที่ทางค่ายเลือกใช้มาเป็นขุมพลังหลักให้กับรถในสไตล์เรโทรหลายโมเดลแล้ว โดยเครื่องยนต์นี้ให้กำลังและแรงบิดที่ค่อนข้างนุ่มนวล ไม่กระโชกโฮกฮาก ซึ่งจะต่างออกไปจากเครื่อง 2 สูบเรียงหรือ CP2 ของทางค่ายที่ใช้กับซี่รี่ส์ MT ที่จะดุดันและหนักแน่นมาเป็นลูกๆ ซะมากกว่า เครื่องยนต์ของ SCR950 นั้นแม้จะไม่ได้ให้กำลังดุดันเร้าใจอะไรมากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะลากน้ำหนักตัวของมันที่หนักมาก ให้ขี่ทำความเร็วเพื่อเดินทางออกทริปได้สบายๆ ไม่ต้องกังวล ท่อไอเสียก็เป็นดีไซน์แบบ 2 ออก 1 เช่นเดียวกันกับของ Boltเพียงแต่ปลายท่อถูกยกให้สูงตามแบบของสแครมเบลอร์คอท่อที่เดินออกมาด้านข้างก็จะมีการ์ดกันความร้อนให้จะได้ไม่ต้องเจอกับอาการขาไหม้จากความร้อนของท่อส่วนคนที่กังวลเรื่องความร้อนของเครื่องยนต์นั้นไม่ต้องห่วงครับแม้จะระบายความร้อนด้วยอากาศเนื่องด้วยเครื่องยนต์นั้นรับลมเวลาที่เราขับขี่ได้แบบเต็มที่เพราะไม่มีชิ้นส่วนแฟริ่งใดๆมาบังแต่อาจจะมีไอร้อนมากหน่อยเวลาที่ขับขี่ในเมืองที่จราจรค่อนข้างคับคั่ง
ช่วงล่างเฟิร์ม
มาเข้าสู่ช่วงล่างกันบ้าง โช้คหน้าเป็นแบบเทเลสโคปิกพร้อมยางกันฝุ่น ซึ่งแน่นอนว่าเลือกใช้แบบเทเลสโคปิกไม่ใช้หัวกลับก็เพื่อที่จะรักษาภาพของความคลาสสิคเอาไว้ ระบบเบรคด้านหน้าก็เลือกใช้ดิสก์เบรคเดี่ยวแบบคลื่นหรือแบบหยัก ที่ให้ความสวยงาม บางคนอาจจะบ่นได้ว่าน่าเสียดาย ที่ให้มาแค่ดิสก์เดี่ยว แถมไม่ให้ระบบเบรค ABS มาด้วย แต่จริงๆ ก็ให้พลังเบรคที่เพียงพอกับกำลังของรถครับ ด้านหลังเป็นโช้คคู่พร้อมซับแทงค์ที่สามารถปรับเซ็ตให้เหมาะสมกับน้ำหนักคนขับหรืออาจจะมีคนซ้อนเพิ่ม หรือเซ็ตให้ตรงตามสไตล์ที่เราชอบ แม้ว่าระยะยุบจะมีมาน้อยไปนิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีปัญหากับการขับขี่ครับ
จากการขับขี่เนี่ยก็พบว่า SCR950 แม้จะมีขนาดใหญ่ ยาว และน้ำหนักมาก แต่ก็ควบคุมได้ง่าย ทั้งทางตรง หรือตอนเข้าโค้งออกโค้ง ด้วยแฮนด์บาร์ที่กว้างจึงช่วยให้ควบคุมรถได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่บนทางลำบากหรือทางดำก็ทำได้ดี ท่านั่งขับขี่เองก็หลังตรง นั่งสบายไม่ปวดหลังครับ ถ้าขยับพักเท้าไปด้านหน้าให้ขาได้เหยียดไปด้านหน้าอีกสักหน่อยจะดีกว่านี้มากครับ เข่าจะไม่งอ ทำให้ขับขี่ทางไกลได้ดีขึ้นไปอีก ล้อหน้าขนาด 19 นิ้วเองก็ช่วยให้ขี่ลุยๆได้ดียิ่งขึ้นแต่ก็ไม่ได้ลุยจนเป็นรถเอ็นดูโร่อะไรขนาดนั้นนะครับโช้คอัพที่ให้มาเนี่ยถือว่าค่อนข้างดีเลยทีเดียวไม่นิ่มหรือกระด้างจนเกินไปและยังสามารถปรับเซ็ตให้เหมาะสมกับการขับขี่ได้มีข้อควรระวังนิดนึงโดยเฉพาะมือเก๋าเพราะเวลาเข้าโค้งเนี่ยทำองศาแบนโค้งได้น้อยเพราะว่าพักเท้าอยู่ต่ำมากทำให้จะติดพื้นได้ง่ายเวลาเราแบนโค้งมากๆซึ่งไม่ระวังอาจจะเกิดอันตรายได้แต่สำหรับคนที่ขับขี่ทั่วไปนั้นไม่ใช่ปัญหาอะไรครับ
สรุปรวม
เจ้า Yamaha SCR950 คันนี้จัดเป็นรถสายหล่อตัวจริง โดดเด่นในสไตล์คลาสสิค ไม่อายใครเวลาจอด เหมาะกับหนุ่มมาดเซอร์ๆ หรือไบค์เกอร์ที่มีใจรักในความวินเทจเรโทร หรือชอบสแครมเบลอร์ แม้จะมีข้อด้อยตรงเรื่องของน้ำหนัก กับเทคโนโลยีในรถที่มีมาน้อย เมื่อเทียบกับค่ายอื่น แต่ก็ได้ความคลาสสิคและความเก๋าแบบดั้งเดิมได้ใจคนที่แสวงหาความย้อนยุคไปได้แบบเต็มๆ ส่วนใครที่อยากได้สแครมเบลอร์แรงๆ ดุๆ เร้าๆ เอาไปซิ่ง ผมว่าคงต้องหาทางเลือกอื่นจริงๆ แต่ถ้าอยากจะออกทริปชิลล์ๆ ขี่ไปรับสาว ควงกิ๊กอะไรแบบนี้บอกเลยครับว่าโคตรตอบโจทย์เลยครับพี่น้อง
YAMAHA SCR950
Rating
Engine |
7 |
Handling |
8 |
Brake |
7 |
Track |
6 |
Cruise |
8 |
Urban |
7 |
Newbies |
7 |
Advance |
8 |
Appearance |
9 |
Value |
8 |
Total |
75 |
Specifications
เครื่องยนต์ |
สองสูบวี 65 องศา ระบายความร้อนด้วยอากาศ |
ปริมาตรกระบอกสูบ |
942 ซีซี |
ระบบวาล์ว |
4 วาล์วต่อสูบ |
ขนาดกระบอกสูบ/ช่วงชัก |
85.0 X 83.0 มม. |
อัตราส่วนการอัด |
9:1 |
แรงม้า เคลม |
51.3 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ |
แรงบิด เคลม |
56.7 ฟุตปอนด์ ที่ 3,000 รอบ |
ระบบเกียร์ |
5สปีด |
ระบบจุดระเบิด |
อิเล็กทรอนิกส์ |
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง |
หัวฉีด |
ระบบสตาร์ท |
สตาร์ทไฟฟ้า |
ระบบคลัทช์ |
คลัทช์เปียกแบบหลายแผ่นซ้อนกัน |
ยาว X กว้าง X สูง |
2,255 X 895 X 1,170 มม. |
ขนาดยางหน้า |
100/90 – 19 |
ขนาดยางหลัง |
140/80 – R17 |
ระบบกันสะเทือนหน้า |
โช้คเทเลสโคปิกขนาด ระยะยุบ 120 มม. |
ระบบกันสะเทือนหลัง |
สวิงอาร์มและโช้คหลังคู่แบบซับแทงค์ ระยะยุบ 71 มม. |
เบรคหน้า |
ดิสก์เบรคเดี่ยวแบบคลื่นขนาด 298 มม. คาลิเปอร์เบรค |
เบรคหลัง |
ดิสก์เบรคเดี่ยวแบบคลื่นขนาด 298 มม. คาลิเปอร์เบรค |
ระยะฐานล้อ |
1,460 มม. |
ความสูงเบาะ |
830 มม. |
น้ำหนักรถเปล่า (เคลม) |
252 กก. |
ความจุถังน้ำมัน |
13 ลิตร |
ราคา |
439,000 บาท |
ติดต่อ |
Facebook: YRCThailand |
จุดเด่น และ ข้อสังเกตในการ ทดสอบ Yamaha SCR950
จุดเด่น
– หน้าตาหล่อเหลา
– ท่านั่งขับขี่ค่อนข้างสบาย
ข้อสังเกต
– ไม่มีระบบเบรค ABS
อ่านข่าวสารเพิ่มเติม คลิกทีนี้
ติดตามข่าวสาร Facebook คลิกทีนี้